การคัดเลือกผลงานภาพยนตร์สั้นของนักเรียนระดับมัธยมศึกษาเพื่อเข้าร่วม Asian International Children's Film Festival ครั้งที่ 13 ภายใต้โครงการแลกเปลี่ยนเยาวชน JENESYS 2019

2019/7/15
โครงการแลกเปลี่ยนเยาวชน JENESYS ได้ริเริ่มโดยฯพณฯ นายชินโซ อาเบะ นายกรัฐมนตรีญี่ปุ่น ในระหว่างการเดินทางเยือนประเทศอินโดนีเซีย เมื่อเดือน มกราคม ค.ศ. 2013 ประเทศญี่ปุ่น ได้ประกาศดำเนินโครงการแลกเปลี่ยนระหว่างเยาวชนเพื่อส่งเสริมความเข้าใจซึ่งกันและกันต่อไปในอนาคต โดยเยาวชนประมาณ 30,000 คน จากประเทศต่างๆในทวีปเอเชีย จะได้รับโอกาสเข้าร่วมโครงการนี้ ที่ประเทศญี่ปุ่น Asian International Children's Film Festival ครั้งที่ 13 เป็นหนึ่งในโครงการภายใต้การแลกเปลี่ยนเยาวชน JENESYS 2019 จัดขึ้นเพื่อให้เยาวชนจากประเทศต่างๆในเอเชีย สามารถแลกเปลี่ยนวัฒนธรรมและประเพณีของตนกับเยาวชนจากประเทศต่างๆ สะท้อนความเหมือนและความแตกต่าง เพื่อสร้างความเข้าใจอันดีและกระชับความสัมพันธ์ให้แน่นแฟ้นในบรรดาเยาวชน แต่ละประเทศ ซึ่งกำลังจะก้าวไปเป็นผู้ใหญ่ในอนาคต ผลงานของนักเรียนจำนวน 3 เรื่องจะถูกคัดเลือก เพื่อเข้าร่วม Asian International Children's Film Festival ครั้งที่ 13 ร่วมกับผลงานจากเยาวชนจากประเทศญี่ปุ่น และประเทศต่างๆในเอเชีย  
 

รายละเอียดการคัดเลือกผลงานภาพยนตร์

1. ระเบียบการสมัคร

(1) คุณสมบัติผู้สมัครเข้าร่วมโครงการ

  • กำลังศึกษาอยู่ในระดับมัธยมศึกษาตอนปลาย
  • สามารถเข้าร่วมโครงการ JENESYS 2019 ที่ประเทศญี่ปุ่น ได้ตลอดโครงการ
  • ผู้ส่งผลงานสามารถมีชื่อปรากฏในผลงานที่เข้าร่วมประกวดได้เพียงหนึ่งเรื่องเท่านั้น
  • ผู้ที่เคยศึกษา หรือพำนักอยู่ที่ประเทศญี่ปุ่นมากกว่า 3 เดือน ไม่สามารถเข้าร่วมโครงการได้
  • ผู้ที่เคยเข้าร่วมโครงการภายใต้การดูแลของรัฐบาลญี่ปุ่น (ได้แก่ JENESYS, Kizuna Project, JENESYS 2.0, JENESYS 2015 - 2018, โครงการเรือเยาวชนเอเชียอาคเนย์ (SSEAYP), โครงการแลกเปลี่ยนเยาวชนภายใต้การดูแลของ Japan Foundation, JNTO, JICA หรือ HIDA และผู้ได้รับทุนการศึกษาจากรัฐบาลญี่ปุ่น (MEXT) ไม่สามารถเข้าร่วมโครงการได้
 

(2) หัวข้อและผลงาน

  • ภาพยนตร์ต้องนำเสนอในหัวข้อเรื่อง “How do you think about causing others trouble. Is it okay if only you are good? Can you think about other people?”
  • ใช้กล้องวีดีโอ กล้องจากโทรศัพท์มือถือ หรือกล้องอื่นๆ ในการถ่ายทำได้ทุกประเภท
  • ภาพยนตร์ต้องมีความยาวไม่เกิน 3 นาที (รวมเครดิตแล้ว) และเป็นผลงานที่ไม่เคยส่งเข้าร่วมประกวดในการประกวดอื่นๆมาก่อน
  • ไม่อนุญาตให้ใส่คำบรรยายใดๆ รวมทั้งใส่เสียงบรรยาย ลงในภาพยนตร์ (สามารถใช้เสียงบทสนทนาจากการแสดงได้)
  • การส่งผลงานเข้าประกวดสามารถเลือกส่งในรูปแบบ ไฟล์ สกุล mp4 หรือ .MOV
  • สามารถส่งผลงานเข้าร่วมได้ทั้งแบบเดี่ยว และ กลุ่ม (โดยผู้กำกับเท่านั้นที่จะเป็นผู้เข้าร่วมโครงการ JENESYS 2019) 
  • ผู้สมัครแต่ละท่านสามารถส่งผลงานเข้าร่วมได้เพียงหนึ่งชิ้นงานเท่านั้น
 

2. วิธีการสมัคร

(1) เจ้าของผลงานที่ประสงค์จะส่งผลงานเข้าร่วมการประกวด สามารถกรอกใบสมัครทางออนไลน์ได้ที่ (http://bit.ly/thaishortfilmjenesys2019)
(2) ส่งผลงานผ่านลิ้งค์ cloud storage ที่ท่านอัพโหลดผลงานไว้โดย (อัพโหลดผลงานของท่านให้เสร็จสิ้นก่อนการกรอกใบสมัครเพื่อกรอกลิ้งค์ที่ท่านอัพโหลดผลงานไว้ลงในใบสมัคร) ได้ตั้งแต่วันที่ 15 กรกฎาคม จนถึง วันที่ 30 สิงหาคม พ.ศ. 2562
(3) ผลงานภาพยนตร์ที่ส่งเข้ามาร่วมประกวดจะได้รับการจัดฉายในวันงานประกาศผลการคัดเลือก (รายละเอียดเพิ่มเติม https://www.facebook.com/thaicinemaschool)
(4) การประกาศผลจะมีขึ้นในวันเสาร์ที่ 21 กันยายน พ.ศ. 2562 เวลา 13.00 น. ณ หอภาพยนตร์ (องค์การมหาชน)
(5) เจ้าของผลงานกรุณาตั้งชื่อไฟล์ที่ส่งผลงานเป็นชื่อผลงานตามด้วยชื่อตัวเอง
(6) เจ้าของผลงานกรุณาสร้างโฟลเดอร์ใน cloud storage พร้อมอัพโหลดไฟล์ผลงานและไฟล์รูป บัตรนักเรียน เพื่อยืนยันตัวตนลงใน โฟลเดอร์นั้น)
(7) ในกรณีที่ภาพยนตร์มีผู้แสดง ไม่กำหนดอายุผู้แสดง
(8) ในกรณีที่ใช้เพลง หรือ ดนตรีประกอบ ให้พยายามใช้เพลงหรือดนตรีประกอบที่ไม่ติดปัญหาลิขสิทธิ์
(9) ในกรณีที่ใช้เพลงของศิลปินท่านอื่น จะต้องระบุชื่อเพลง ชื่อผู้ประพันธ์ ชื่อนักร้อง เจ้าของลิขสิทธิ์ ลงในใบสมัคร และในเครดิตหนังตอนจบ อย่างชัดเจน (อ่านห้วข้อที่ 5 เรื่องลิขสิทธิ์อย่างละเอียด)
(10) ในกรณีที่ใช้ภาพถ่ายหรือคลิปฟุตเทจอื่นๆที่ไม่ได้ถ่ายทำมาเอง  ให้พยายามใช้ภาพถ่ายหรือคลิปฟุตเทจ ที่ถ่ายทำเองทั้งหมด (อ่านห้วข้อที่ 5 เรื่องลิขสิทธิ์อย่างละเอียด)

 

3. เกณฑ์การตัดสิน

เกณฑ์การตัดสิน จะพิจารณาจากเนื้อหาได้นำเสนอมุมมองของเยาวชนได้อย่างเฉียบแหลม ตรงโจทย์ จริงใจ  ผลงานที่ส่งเข้ามาไม่จำเป็นต้องมีเรื่องราวซับซ้อน หรือ เทคนิคตระการตาสามารถเป็นหนังที่เรียบง่ายแต่แสดงออกให้เห็นถึงตัวตนของเจ้าของผลงานมากที่สุด หรือ   กลวิธีการในการนำเสนอ มีความคิดสร้างสรรค์หรือโดดเด่น ในเรื่องใดเรื่องหนึ่ง แต่ ยังคงสื่อความจากโจทย์ที่ตั้งไว้ จะเป็นการแสดงความคิดเห็นของผู้สร้างสรรค์ผลงาน ก็ได้
 

4. เงื่อนไขในการประกวด


(1) การประกวดในครั้งนี้ เพื่อคัดเลือกเยาวชน 9 คน เข้าร่วมโครงการ JENESYS 2019 และ Asian International Children's Film Festival ครั้งที่ 13 ที่จะจัดขึ้นในวันเสาร์ที่ 7 ธันวาคม ณ เมืองมินามิอะวะจิ จังหวัดเฮียวโงะ ประเทศญี่ปุ่น
(2) เยาวชนที่ได้รับการคัดเลือกทั้ง 9 คน จะได้เดินทางไปเข้าร่วมกิจกรรมของโครงการ JENESYS 2019 ที่ประเทศญี่ปุ่น โดยรัฐบาลญี่ปุ่นจะดูแลค่าใช้จ่ายในส่วนของค่าตั๋วเครื่องบินการเดินทางไปกลับ (ประเทศไทย-ประเทศญี่ปุ่น) ค่าอาหาร และค่าที่พัก ระหว่างที่ทำกิจกรรมอยู่ในประเทศญี่ปุ่น (ทางคณะผู้จัดงานจะไม่รับผิดชอบค่าใช้จ่ายอื่นๆ เช่น ค่าทำหนังสือเดินทาง Passport หรือ ค่าซื้อของ)
(3) ผู้ที่ได้รับคัดเลือกเข้าร่วมโครงการ JENESYS 2019 จะต้องเข้าร่วมกิจกรรมทุกอย่างที่กำหนดไว้อย่างเคร่งครัด
(4) ผู้ที่ได้รับคัดเลือกเข้าร่วมโครงการ JENESYS 2019 จะต้องประชาสัมพันธ์ข้อมูลหรือประสบการณ์ที่ได้รับจากโครงการผ่านทางสื่อ Social Media ของตัวเอง
(5) ในกรณีที่คณะผู้จัดงานตรวจสอบพบว่าผลงานที่ส่งเข้าประกวด ไม่ได้จัดทำขึ้นโดยเยาวชนเจ้าของผลงาน จะถือว่าผลงานที่ส่งเข้าประกวดนั้นเป็นโมฆะ
(6) คณะผู้จัดงานมีสิทธิ์นำผลงานทุกชิ้นที่ส่งเข้าร่วมโครงการไปจัดฉาย หรือ ทำการประชาสัมพันธ์ โดยไม่ใช่เพื่อผลประโยชน์ในเชิงพาณิชย์
(7) ทางคณะผู้จัดงานจะไม่ส่งผลงานที่ส่งเข้าร่วมงานคืนเจ้าของผลงาน หลังเสร็จสิ้นโครงการ
(8) ทางคณะผู้จัดงานขอสงวนสิทธิ์ในการเปลี่ยนแปลงรายละเอียด และเงื่อนไขต่าง ๆ ของการประกวดโดยไม่แจ้งให้ทราบล่วงหน้า
(9) ผลการตัดสินของคณะกรรมการถือเป็นที่สุด

 

5. ลิขสิทธิ์

ไม่อนุญาตให้ใช้เพลง ภาพถ่าย ภาพวาด และภาพเคลื่อนไหวที่มีลิขสิทธิ์ของบุคคลที่สาม สามารถใช้ได้เพียงเพลงประกอบที่ไม่มีลิขสิทธิ์เท่านั้น ในกรณีที่จำเป็นต้องใช้เพลง ภาพถ่าย ภาพวาด และภาพเคลื่อนไหวที่มีลิขสิทธิ์ ต้องได้รับอนุญาตจากเจ้าของลิขสิทธิ์ก่อน เนื่องจากไม่ประสงค์ให้เกิดปัญหาการล่วงละเมิดลิขสิทธิ์ของบุคคลที่สาม หากเกิดกรณีการฟ้องร้องขึ้น ผู้ส่งผลงานนั้นจะต้องรับผิดชอบค่าเสียหายที่เกิดขึ้นทั้งหมดด้วยตนเอง
 

6. ติดต่อสอบถาม

สำนักข่าวสารญี่ปุ่น สถานเอกอัครราชทูตญี่ปุ่น หมายเลขโทรศัพท์ 02-696-3000
หรือ หอภาพยนตร์ (องค์การมหาชน) หมายเลขโทรศัพท์ 02-482-2013-14  ต่อหมายเลขภายใน 110
ท่านสามารถดูรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ https://www.th.emb-japan.go.jp/itprtop_th/index.html  หรือ https://www.facebook.com/thaicinemaschool