หน้าแรก | ความสัมพันธ์โดยสังเขป



ความสัมพันธ์โดยสังเขป
ความสัมพันธ์และสนธิสัญญาต่างๆ
เศรษฐกิจ
การแลกเปลี่ยนวัฒนธรรม
จำนวนผู้เดินทางไทย-ญี่ปุ่น
นักศึกษาไทยในญี่ปุ่น
การแลกเปลี่ยนทางวิชาการ
การศึกษาภาษาญี่ปุ่นในไทย
ชาวญี่ปุ่นในประเทศไทย
การเยี่ยมเยือนของบุคคลสำคัญ

120ปี ความสัมพันธ์ทางการทูตไทย-ญี่ปุ่น

ความสัมพันธ์ระหว่างประเทศญี่ปุ่นและประเทศไทย

  1. ความสัมพันธ์ระหว่างประเทศญี่ปุ่นและประเทศไทยโดยสังเขป
    (1) ประเทศญี่ปุ่นและประเทศไทย ธำรงสัมพันธภาพ อันอบอุ่นมานานยาวกว่า 600 ปี มิตรภาพระหว่างประเทศทั้งสอง แน่นแฟ้นมากยิ่งขึ้นในระยะหลัง ในเดือนกันยายน พ.ศ. 2550 ประเทศญี่ปุ่นและประเทศไทยได้จัดงานฉลองครบรอบ 120 ปีแห่งการสถาปนาความสัมพันธ์ทางการทูต
    (2) ประเทศญี่ปุ่นและประเทศไทยดำรงความสัมพันธ์ฉันมิตรมาเป็นเวลายาวนานโดยมีความสัมพันธ์อันใกล้ชิดระหว่างพระราชวงศ์ของทั้งสองประเทศเป็นพื้นฐาน นอกจากนั้นความสัมพันธ์ทางเศรษฐกิจระหว่างสองประเทศก็เติบโตแน่นแฟ้นยิ่งขึ้นอย่างรวดเร็วจากการขยายตัวกิจการของบริษัทญี่ปุ่นในประเทศไทยนับแต่ทศวรรษ 60 และโดยเฉพาะอย่างยิ่งจากกระแสการลงทุนโดยตรงจากประเทศญี่ปุ่นที่เข้ามามากสืบเนื่องจากพื้นฐานอัตราแลกเงินเยนที่แข็งขึ้นในตอนปลายทศวรรษ 80
    (3) ก่อนเกิดวิกฤตทางเศรษฐกิจประเทศญี่ปุ่นมียอดมูลค่าการค้า การลงทุน และความช่วยเหลือกับประเทศไทยสูงเป็นอันดับแรก แม้ว่ามีวิกฤตทางเศรษฐกิจเกิดขึ้น แต่ปริมาณการค้าก็ยังคงอยู่ในอันดับที่สอง นอกจากนี้จำนวนบริษัทซึ่งเป็นสมาชิกของหอการค้าญี่ปุ่นประจำกรุงเทพฯ ก็มีมากกว่า 1,100 แห่ง และการลงทุนจากประเทศญี่ปุ่นยังคงสูงถึงร้อยละ 40 ของการลงทุนจากต่างประเทศทั้งหมดในประเทศไทย ตลอดจน ประมาณครึ่งหนึ่งของยอดเงินกู้ที่บริษัทต่าง ๆ ในประเทศไทยกู้นั้นเป็นเงินกู้จากธนาคารของญี่ปุ่นทั้งหมด ซึ่งสรุปได้ว่าความสัมพันธ์ด้านเศรษฐกิจก็มีการพึ่งพาซึ่งกันและกันเป็นอย่างมาก
    (4) ประเทศญี่ปุ่นและประเทศไทยกำลังสร้างสรรค์ความเป็นหุ้นส่วนในด้านการทูตทั้งในระดับภูมิภาคและระดับโลก ตัวอย่างเช่น ในระดับภูมิภาค ประเทศญี่ปุ่นให้ความช่วยเหลือแก่โครงการลุ่มแม่น้ำโขง ส่วนในระดับโลกยังให้การสนับสนุน ดร.ศุภชัย พานิชภักดิ์ อดีตรองนายกรัฐมนตรีเป็นผู้อำนวยการคนใหม่ในการเลือกตั้งผู้อำนวยการองค์การค้าโลกหรือ WTO

  2. ความสัมพันธ์ระหว่างประเทศญี่ปุ่นและประเทศไทยภายหลังวิกฤตเศรษฐกิจ
  3. (1) ทั้งฝ่ายญี่ปุ่นและไทยได้ตระหนักใหม่ว่าทั้งสองประเทศมีการพึ่งพาซึ่งกันและกันในด้านเศรษฐกิจ ตามประสบการณ์วิกฤตการณ์ทางเศรษฐกิจในปี 2540 บริษัทญี่ปุ่นไม่ลดและถอยตัวอย่างขนานใหญ่ท่ามกลางภาวะวิกฤตเศรษฐกิจ ตรงกันข้าม บริษัทจากยุโรปหรือสหรัฐฯ ถอยการลงทุนระยะสั้นอย่างรวดเร็ว บริษัทญี่ปุ่นได้รักษาการให้กู้เงินและอัดฉีดเงินทุนให้บริษัทเครือข่ายหรือสาขาต่าง ๆ ในประเทศไทย ทั้งนี้มีส่วนช่วยทำให้สภาวะเศรษฐกิจฟื้นตัวอย่างต่อเนื่อง
    (2) โดยคำนึงถึงความสัมพันธฉันมิตรอันยั่งยืนและการพึ่งพาซึ่งกันและกันระหว่างสองประเทศ เมื่อประเทศไทยประสบวิกฤตเศรษฐกิจ ประเทศญี่ปุ่นจึงให้การสนับสนุนแก่ประเทศไทยอย่างกว้างขวาง อาทิเช่น ความช่วยเหลือด้านการเงินจำนวน 4 พันล้านดอลล่าร์ผ่าน IMF การให้กู้เงินเยนรวมถึงโครงการมิยะซะวะ การให้เงินสินเชื่อของธนาคารส่งออกและนำเข้าแห่งญี่ปุ่น (ปัจจุบันคือ JBIC จากการรวมกันระหว่างธนาคารส่งออกและนำเข้าแห่งญี่ปุ่นกับ OECF) การให้การรับประกันการค้า ความช่วยเหลือแบบให้เปล่า และความร่วมมือด้านวิชาการ เป็นต้น ความช่วยเหลือเหล่านี้มีมูลค่าสูงมากกว่า 14,000 ล้านดอลล่าร์ ประเทศญี่ปุ่นเป็นประเทศอันดับแรกในหมู่ประเทศต่าง ๆ ที่ให้ความช่วยเหลือแก่ประเทศไทย

  4. การแลกเปลี่ยนการเยี่ยมเยือนของบุคคลสำคัญ
  5. (1) วันที่ 25 กรกฎาคม พ.ศ.2543 สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี เสด็จพระราชดำเนินไปทรงร่วมพระราชพิธีศพสมเด็จพระราชชนนีในสมเด็จพระจักรพรรดิอากิฮิโตแห่งญี่ปุ่น และทรงเป็นพระราชอาคันตุกะพระองค์เดียวจากต่างประเทศที่ทรงได้เข้าร่วมงานพิธี ในเดือนสิงหาคม พ.ศ.2544 เจ้าชายอากิชิโนและเจ้าหญิงคิโกะ เสด็จมาประเทศไทยเพื่อทรงรับการถวายปริญญาดุษฎีบัณฑิตกิตติมศักดิ์จากมหาวิทยาลัยของประเทศไทย ในเดือนกันยายนปีเดียวกัน สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี เสด็จพระราชดำเนินเยือนประเทศญี่ปุ่นเพื่อทรงรับการถวายปริญญาดุษฎีบัณฑิตกิตติมศักดิ์จากมหาวิทยาลัยกักคุชูอิน และในเดือนตุลาคม สมเด็จพระเจ้าลูกเธอ เจ้าฟ้าจุฬาภรณ์วลัยลักษณ์ อัครราชกุมารี เสด็จเยือนประเทศญี่ปุ่นด้วย
    (2) ในด้านการแลกเปลี่ยนการเยือนของระดับผู้นำประเทศ นายชวน หลีกภัย นายกรัฐมนตรี เดินทางไปเยือนประเทศญี่ปุ่นอย่างเป็นทางการในเดือนตุลาคม พ.ศ.2542 นายเคอิโซ โอบุชิ นายกรัฐมนตรีญี่ปุ่น เดินทางมาเยือนประเทศไทยอย่างเป็นทางการในโอกาสการมาเยือนประเทศอาเซียน นอกจากนี้ นายกรัฐมนตรี โอบุชิ ยังได้เดินทางมาประเทศไทยเพื่อเข้าร่วมการประชุม UNCTAD ครั้งที่ 10 ในเดือนกุมภาพันธ์ พ.ศ.2543 ต่อจากนั้น นายกรัฐมนตรี ชวน หลีกภัย และดร.สุรินทร์ พิศสุวรรณ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศ เดินทางไปประเทศญี่ปุ่นเพื่อเข้าร่วมงานศพอดีตนายกรัฐมนตรี เคอิโซ โอบุชิ ในเดือนมิถุนายน ปีเดียวกัน และยังเดินทางเยือนประเทศญี่ปุ่นอีกครั้งก่อนการประชุมสุดยอด Kyusu-Okinawa Summit ในฐานะเจ้าภาพการประชุม UCTAD X และประธาน ASEAN การเยี่ยมเยือนกันและกันของผู้นำของสองประเทศดังกล่าวนี้ ได้กระชับสัมพันธภาพไทย-ญี่ปุ่นให้แน่นแฟ้นยิ่งขึ้น
    (3) พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร นายกรัฐมนตรีเดินทางไปเยือนประเทศญี่ปุ่นอย่างเป็นทางการเป็นครั้งแรกเมื่อเดือนพฤศจิกายน พ.ศ.2544 ในโอกาสนี้ ได้เข้าเฝ้าสมเด็จพระจักรพรรดิ จากนั้นได้เข้าหารือกับนายกรัฐมนตรี จุนอิชิโร โคะอิซุมิ และเข้าร่วมงานเลี้ยงอาหารค่ำอย่างเป็นทางการที่นายกรัฐมนตรี จุนอิชิโร โคะอิซุมิ เป็นเจ้าภาพ นอกจากนี้ พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร นายกรัฐมนตรียังได้กล่าวสุนทรพรจน์ในงานสัมมนาว่าด้วยการส่งเสริมการลงทุนในประเทศไทย และยังได้เดินทางเยือนจังหวัดโออิตะเพื่อเยี่ยมชมโครงการหนึ่งตำบลหนึ่งผลิตภัณฑ์ในประเทศญี่ปุ่นด้วย

  6. การเยี่ยมเยือนกันและกันของผู้นำระดับสูง ได้กระชับสัมพันธภาพไทย-ญี่ปุ่น ให้แน่นแฟ้นยิ่งขึ้นตลอดมา ในด้านความสัมพันธ์ทางเศรษฐกิจ ก็มีการขยายตัวของการลงทุนของญี่ปุ่น ในประเทศไทยมากขึ้น เนื่องจากประเทศไทย มีการพัฒนาทางเศรษฐกิจอย่างยิ่ง ความช่วยเหลือแบบให้เปล่าแก่ประเทศไทย โดยมากจึงได้ยุติลง อย่างไรก็ดีประเทศไทย ยังคงเป็นประเทศ ผู้รับสำคัญที่สุดรายหนึ่ง ของความช่วยเหลือ เพื่อพัฒนาทางการ (โอดีเอ) (Official Development Assistance - ODA) ของรัฐบาลญี่ปุ่น ในด้านความช่วยเหลือทางเทคนิค และความช่วยเหลือ เกี่ยวกับเงินกู้เงินเยน


  7. โดยรวมแล้ว คนไทยมีความรู้สึกที่ดีกับญี่ปุ่นจากการสำรวจความคิดเห็นในกลุ่มประเทศอาเซียน 5 ประเทศ ("ASEAN Study V") ที่จัดทำในเดือนเมษายน พ.ศ.2540 โดยกระทรวงการต่างประเทศญี่ปุ่น ปรากฎว่า คนไทยร้อยละ 98 เห็นว่าญี่ปุ่นคือมิตรประเทศ ความเห็นเช่นนี้ ส่งให้ประเทศไทยอยู่ในลำดับที่หนึ่งของประเทศ ที่มีทัศนะที่ดีต่อญี่ปุ่น นับตั้งแต่เดือนกรกฎาคม พ.ศ.2540 ประเทศญี่ปุ่นให้การสนับสนุนประเทศไทย ทั้งในระดับรัฐบาลและภาคธุรกิจ และก็ประจักษ์ชัดว่าคนไทยชื่นชมการสนับสนุนของญี่ปุ่น


  8. ที่ผ่านมา แทบจะไม่มีคนญี่ปุ่นหรือนักท่องเที่ยวญี่ปุ่นเดินทางมาประเทศไทยเข้าไปพัวพันในคดีอาชญากรรมใด ๆ แต่เมื่อจำนวนคนญี่ปุ่นที่อาศัยอยู่ในประเทศไทย รวมทั้งนักท่องเที่ยวเพิ่มมากขึ้น คดีความที่มีชาวญี่ปุ่นเป็นผู้เสียหายรวมถึงคดีมโนสาเร่ เช่น การถูกลักขโมย การถูกฉ้อโกง เป็นต้น ก็เพิ่ม ประมาณงานของแผนกกงสุล สถานทูตญี่ปุ่นประจำประเทศไทย ในการดูแลคนญี่ปุ่นที่ประสบปัญหาในประเทศไทย เช่น อุบัติเหตุ การตาย และเจ็บป่วยก็มีมากขึ้น

หน้าแรก | ความสัมพันธ์โดยสังเขป > ความสัมพันธ์ทางการทูตและสนธิสัญญา


ความสัมพันธ์ทางการทูตและสนธิสัญญา

(ก) สถาปนาความสัมพันธ์ทางการทูต วันที่ 26 กันยายน พ.ศ. 2430
(ข) สนธิสัญญา ข้อตกลงทวิภาคี (ในวงเล็บคือวันเดือนปีที่มีผลบังคับใช้)
  • ข้อตกลงทางการบิน (วันที่ 14 กรกฎาคม พ.ศ. 2496)
  • ข้อตกลงทางวัฒนธรรม (วันที่ 6 กันยายน พ.ศ. 2498)
  • ข้อตกลงทางการพาณิชย์ (วันที่ 1 มกราคม พ.ศ. 2501)
  • ข้อตกลงทางภาษี (วันที่ 24 กรกฎาคม พ.ศ. 2506 แก้ไขปรับปรุงวันที่ 31 สิงหาคม พ.ศ. 2533)
  • ข้อตกลงในการส่งอาสาสมัครร่วมมือเยาวชน (วันที่ 19 มกราคม พ.ศ. 2524)
  • ข้อตกลงความร่วมมือทางเทคโนโลยี (วันที่ 5 พฤศจิกายน พ.ศ. 2524)
  • ข้อตกลงหุ้นส่วนเศรษฐกิจไทย-ญี่ปุ่น(JTEPA:Japan-Thailand Economic Partnership Agreement) (วันที่1 พฤศจิกายน พ.ศ. 2550)