หน้าแรก | นโยบายต่างประเทศ | บทบรรยายโดย ฯพณฯ นายเคียวจิ โคะมะจิ เอกอัครราชทูตญี่ปุ่นประจำประเทศไทย
ความท้าทายในอนาคต หลัง 6 ศตวรรษความสัมพันธ์ไทย-ญี่ปุ่น:
บทบรรยายโดย ฯพณฯ นายเคียวจิ โคะมะจิ เอกอัครราชทูตญี่ปุ่นประจำประเทศไทย
ณ สถาบันเอเชียตะวันออกศึกษา มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์
วันที่ 7 กันยายน 2553
1.บทนำ
สวัสดีครับ ผมรู้สึกยินดีและเป็นเกียรติอย่างมากที่ได้รับโอกาสมาบรรยายให้ทุกท่านฟังที่ สถาบันเอเชียตะวันออกศึกษา ว่าด้วยเรื่อง “ความสัมพันธ์ไทย-ญี่ปุ่น” โดยเฉพาะอย่างยิ่ง ปีนี้เป็นการครบรอบ 25 ปี ของการก่อตั้งสถาบัน และผมขอแสดงความขอบคุณเจ้าหน้าที่ทุกท่านอย่างจริงใจ ในการจัดงานครั้งนี้
เรื่องที่ผมจะบรรยายต่อไปนี้ ได้เคยบรรยายครั้งแรก เมื่อเดือน กรกฏาคม ที่สยามสมาคมซึ่งเป็นองค์กรที่มีเกียรติในพระราชูปถัมภ์ อีกทั้งมีความสัมพันธ์ใกล้ชิดกับญี่ปุ่น สถาบันเอเชียตะวันออกศึกษาในพระราชูปถัมภ์ในสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี ก็เป็นหน่วยงานที่สะท้อนถึงสัมพันธภาพอย่างใกล้ชิดระหว่างประเทศไทยกับประเทศญี่ปุ่น เมื่อแรกก่อตั้งในปี ค.ศ. 1983 ได้ตั้งเป็นศูนย์ญี่ปุ่นศึกษา โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อส่งเสริมญี่ปุ่นศึกษาในประเทศไทย โดยรัฐบาลญี่ปุ่นให้ความช่วยเหลือแบบให้เปล่าในการสร้างอาคารศูนย์ญี่ปุ่นศึกษา ผมมีความปรารถนาอย่างจริงใจว่าบทบรรยายในวันนี้จะช่วยให้เข้าใจประวัติศาสตร์ที่ยืนยาว และความผูกพันที่มั่นคงของความสัมพันธ์ทวิภาคี และอำนวยความสะดวกต่อความร่วมมือต่อไปในอนาคต
ความสัมพันธ์ระหว่างประเทศญี่ปุ่นและประเทศไทยในปัจจุบันดำเนินไปอย่างดียิ่ง ขอเริ่มด้วยการเสด็จเยือนระหว่างพระราชวงศ์ไทยและพระราชวงศ์ญี่ปุ่น เรายังเห็นการแลกเปลี่ยนและความร่วมมืออย่างใกล้ชิดในด้านต่างๆ ซึ่งไม่เพียงครอบคลุมด้านการค้า การลงทุน และการแลกเปลี่ยนวัฒนธรรม หากรวมถึงปฏิสัมพันธ์ทางการเมืองและความมั่นคงในเวทีระหว่างประเทศ อย่างไรก็ดี หากมองย้อนประวัติศาสตร์กลับไป จะพบว่าความสัมพันธ์ดีเยี่ยมนี้ไม่ได้พัฒนาขึ้นเองตามธรรมชาติ แต่ค่อยๆเจริญขึ้นตามลำดับด้วยความพยายามอย่างต่อเนื่องของบรรพบุรุษของพวกเราผู้มีส่วนในการแลกเปลี่ยนและความร่วมมือตลอดระยะเวลา 600 ปีที่ผ่านมา ความสัมพันธ์เชิงความร่วมมือที่ดีนี้เป็นผลของความพยายามที่สั่งสมมายาวนาน
วันนี้ จะขอเริ่มด้วยประวัติการแลกเปลี่ยนระหว่างประเทศไทยและประเทศญี่ปุ่นในห้วงเวลากว่า 600 ปี ต่อด้วยภาพของสถานการณ์ปัจจุบัน และผมอยากแบ่งปันความคิดเห็นของผมว่าเราจะก้าวต่อไปอย่างไรในอนาคต
2.ศตวรรษที่ 14 เริ่มต้นของการติดต่อ
อย่างที่ได้กล่าวไว้ข้างต้น ประเทศไทยกับญี่ปุ่นมีประวัติการแลกเปลี่ยนยาวนานกว่า 600 ปี จากบันทึกยืนยันว่าได้มีการติดต่อครั้งแรกกับชาวไทยในสมัยอยุธยา จากเอกสารที่บันทึกไว้พบว่าในปี ค.ศ. 1388 นักเดินเรือที่ได้รับบัญชาจากกษัตริย์แห่งอยุธยาให้นำของขวัญไปถวายกษัตริย์แห่งเกาหลีได้พำนักในญี่ปุ่นเป็นเวลาหนึ่งปีก่อนเดินทางต่อ หากนับจากปีดังกล่าว ความสัมพันธ์ของสองประเทศจะยาวนานกว่า 600 ปี เอกสารของฝ่ายจีนแสดงให้เห็นว่าจีนได้ช่วยเรือของอยุธยาที่จะเดินทางไปโอกินาวาแต่ได้ออกนอกเส้นทางจนไปถึงจีน ยิ่งกว่านั้น ในศตวรรษที่ 14 มีการส่งออกเครื่องปั้นดินเผาที่มีชื่อเสียงของสุโขทัยไปญี่ปุ่น และญี่ปุ่นใช้เป็นอุปกรณ์ประกอบพิธีชงชาของญี่ปุ่นกันอย่างกว้างขวาง
ยังมีบันทึกอื่นอีกว่าในศตวรรษที่ 15 โอกินาวา ซึ่งเป็นเกาะทางตอนใต้สุดของญี่ปุ่น มีการค้าขายกับประเทศจีนและประเทศเอเชียตะวันออกเฉียงใต้อย่างคึกคัก และระหว่างปี ค.ศ. 1425 ถึง 1570 ได้ส่งเรือไปค้าขายกับเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ 150 ลำ ในจำนวนนี้ 57 ลำ เดินทางไปอยุธยา 20 ลำไปมะละกา (Malacca) 10 ลำไปปัตตานี และ 6 ลำไปชวา แสดงให้เห็นถึงความสำคัญของการค้าขายกับอยุธยา สินค้าที่ค้าขายในสมัยนั้น ญี่ปุ่นส่งออกดาบซามูไรญี่ปุ่น พร้อมด้วยเครื่องเคลือบดินเผา และ แพรพรรณคุณภาพดีจากจีนไปขายที่อยุธยา ในงานพิธีสำคัญๆ บุคคลที่เข้าร่วมงานจะแต่งกายในชุดเต็มยศ และนิยมสะพายดาบที่ประดับประดาอย่างสวยงาม และดาบคุณภาพดีก็นำเข้าจากญี่ปุ่น
3. ศตวรรษที่ 17
จากนี้จะขอนำเข้าสู่ศตวรรษที่ 17 ภายใต้การนำโดยโชกุน โทกุกะว่า( Shogun Tokugawa) หลังจากผ่านพ้นช่วงสงครามกลางเมือง แม้ว่าโชกุนสมัยโทกุกะวะ จะดำเนินนโยบายปิดประเทศ แต่การค้าระหว่างญี่ปุ่นกับอยุธยาคงดำเนินไปโดยผ่านพ่อค้าชาวดัชท์ ขณะที่ญี่ปุ่นปิดประเทศ อยุธยากลับเปิดติดต่อกับโลกกว้างยิ่งขึ้น ในหนังสือ “Discovering Ayutthaya” โดยดร.ชาญวิทย์ เกษตรศิริ อดีตอธิการบดีมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ได้กล่าวว่า ในอยุธยายุคนั้น มีชนชาติต่างๆอาศัยอยู่มากกว่า 40 เชื้อชาติ ซึ่งยืนยันโดยทูตฝรั่งเศส ที่เดินทางมาอยุธยาในศตวรรษที่ 17 ชนชาติต่างๆ เหล่านั้นมี ญี่ปุ่น จีน ดัชท์ โปรตุเกส ฝรั่งเศส และอังกฤษ รวมอยู่ด้วย ตลอดจนชนชาติซึ่งเป็นเพื่อนบ้านของประเทศไทยในปัจจุบัน ชาวตะวันตกเข้ามาอยุธยาเพื่อทำการค้าหรือไม่ก็เพื่อเผยแพร่คริสตศาสนา มีชาวญี่ปุ่นเข้ามาทำการค้าขายจำนวนไม่น้อย แต่ก็มีพวกที่หลบหนีการประหัตประหารชาวคริสต์ในญี่ปุ่น ยังมีซามูไรที่สูญเสียหัวหน้า และแสวงหาโอกาสในต่างแดน
ตามข้อเขียนของอาจารย์ชาญวิทย์ ชาวญี่ปุ่นในหมู่บ้านญี่ปุ่นเคยมีจำนวนสูงสุดระหว่าง 1,000 ถึง 1,500 คน ที่มีชื่อเสียงเป็นที่รู้จักในยุคนั้นคือ “ยามาดะ นางะมะซะ” ผู้ได้รับแต่งตั้งเป็น “ออกญา เสนาภิมุข” นามนี้เป็นที่รู้จักดีในญี่ปุ่น และมีเรื่องของ ยามาดะ นางะมะซะ ในบทเรียนสำหรับนักเรียนมัธยมต้นในประเทศไทยด้วย
เรื่องราวที่น่าสนใจอีกตอนหนึ่งที่ประดับในหน้าประวัติศาสตร์ คือ เรื่องเกี่ยวกับสุภาพสตรี ชื่อ “Mrs. Gimmer” หรือที่เรียกกันว่า “ท้าวทองกีบม้า” บิดามารดาของท้าวทองกีบม้านับถือคริสต์ มารดาเป็นญี่ปุ่น และบิดาสืบเชื้อสายจากทั้งญี่ปุ่นและโปรตุเกส ทั้งคู่หลบหนีการประหัตประหารชาวคริสต์ในญี่ปุ่นมาตั้งรกรากที่อยุธยา และบุตรสาวก็แต่งงานกับชาวกรีก ท้าวทองกีบม้าได้แนะนำขนม “ฝอยทอง” ให้เป็นที่รู้จัก ซึ่งกลายเป็นขนมหวานที่ได้รับความนิยม ขนมหวานชนิดนี้มีถิ่นกำเนิดที่โปรตุเกส และกลายเป็นขนมหวานที่ได้รับความนิยมมากที่ นางาซากิ เช่นกัน โดยมีชื่อเรียกในญี่ปุ่นว่า “Keiran-soumen” (เคอิรัง โซเมง) จึงเป็นไปได้ว่า เธอได้สูตรทำขนมขณะครอบครัวอยู่ในญี่ปุ่นและนำมาเผยแพร่ในประเทศไทย
เรื่องเกี่ยวกับอาหารที่น่าสนใจอีกเรื่องหนึ่ง: สินค้าหลักที่ส่งจากญี่ปุ่นมาอยุธยาในศตวรรษ 17 และ 18 ได้แก่ ทองแดง ซอสถั่วเหลือง สาหร่าย (konbu) และปลาตากแห้ง (katsuobushi) คะเนจากประเภทสินค้าที่นำเข้ามา คาดว่าชาวอยุธยาคงสนใจอาหารญี่ปุ่นไม่น้อย เหล้าขาว “อะวาโมริ” ที่มีชื่อเสียงของโอกินาวา เดิมทีก็นำไปจากอยุธยาในศตวรรษที่ 14 หรือ 15 แม้จนทุกวันนี้ ยังมีการส่งข้าวไทยจากอยุธยาไปโอกินาวาเพื่อใช้เป็นวัตถุดิบ ในการผลิตเหล้า อะวาโมริ ความสนใจซึ่งกันและกันเกี่ยวกับอาหารตั้งแต่สมัยโบราณอาจเป็นเหตุผลของความนิยมอาหารไทยในญี่ปุ่น และความนิยมอาหารญี่ปุ่นในไทยในปัจจุบัน เมื่อพูดถึงเรื่องอาหาร ขอแทรกให้ทราบว่ากระทรวงการต่างประเทศญี่ปุ่นมีโครงการฝึกทำอาหารญี่ปุ่นให้พ่อครัวคนไทย และจัดส่งพ่อครัวเหล่านี้ไปทำงาน ณ บ้านพักเอกอัครราชทูตญี่ปุ่นในประเทศต่างๆ ปัจจุบัน มีพ่อครัวคนไทยผู้มีฝีมือเกือบ 30 คน ทำงานเป็นพ่อครัวประจำบ้านพักเอกอัครราชทูตญี่ปุ่นในประเทศต่างๆ ทั่วโลก โครงการนี้ริเริ่มในประเทศไทยและยังคงเป็นที่เดียวที่ให้การอบรมเช่นนี้
สินค้าที่อยุธยาส่งไปญี่ปุ่นได้แก่ หนังกวาง และหนังฉลาม สินค้าเหล่านี้จะนำไปทำเป็นเครื่องนุ่งห่ม เกราะสำหรับนักรบซามูไร หรือด้ามดาบ สิ่งเหล่านี้แสดงถึงการค้าที่ขยายครอบคลุมหลากหลายสาขาในศตวรรษที่ 17
4. ศตวรรษที่ 19
เมื่อล่วงเข้าศตวรรษที่ 19 ประเทศไทยและประเทศญี่ปุ่นต่างต้องเผชิญกับการล่าอาณานิคมของประเทศตะวันตก พลเรือจัตวา แมทธิว ซี. เพอร์รี่ แห่งสหรัฐอเมริกาบังคับญี่ปุ่นให้เปิดประเทศ และยุตินโยบายการอยู่สันโดษ ในปี ค.ศ. 1868 ญี่ปุ่นก้าวเข้าสู่ยุคเมจิ (Meiji) และได้เริ่มต้นนโยบายความทันสมัย ขณะที่ประเทศไทย พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวรัชกาลที่ 5 ได้เสด็จขึ้นครองราชย์ใน ค.ศ. 1868 และทรงริเริ่มปรับปรุงสู่ความเป็นสมัยใหม่ ทั้งสองประเทศเริ่มต้นกระบวนการสู่ความสมัยใหม่ในระยะเวลาเดียวกัน นี่ไม่ใช่เรื่องบังเอิญ ทั้งสองประเทศดำเนินความพยายามสุดความสามารถในการผดุงเอกราชหลังจากได้ก้าวเข้าสู่การไหลบ่าของกระแสความสัมพันธ์ระหว่างประเทศ ตัวอย่างหนึ่งที่แสดงถึงความเหมือนของโชคชะตาของสองประเทศ คือ ในปี ค.ศ. 1858 ญี่ปุ่นได้ทำสนธิสัญญาสันติภาพและการค้า กับ Mr. Townsend Harris ผู้เดินทางถึงญี่ปุ่นในฐานะกงสุลใหญ่สหรัฐประจำญี่ปุ่น ก่อนเดินทางไปประเทศญี่ปุ่น Mr. Harris ได้เดินทางมาประเทศไทย และระหว่างอยู่ในประเทศไทย ก็ได้ลงนามในสนธิสัญญาไมตรีและการพาณิชย์ระหว่างประเทศไทยกับสหรัฐอเมริกาในปี ค.ศ. 1856
ประเทศญี่ปุ่นและประเทศไทยในฐานะเป็นประเทศที่คงความเป็นเอกราชเพียงไม่กี่ประเทศในเอเชีย ได้เริ่มต้นดำเนินความสัมพันธ์ทางการทูตในช่วงเวลานี้ ผู้นำของไทยบางท่านได้เดินทางไปญี่ปุ่นเพื่อศึกษาสถานการณ์ในประเทศญี่ปุ่น ญี่ปุ่นได้สถาปนาความสัมพันธ์ทางการทูตกับประเทศไทยในปี ค.ศ. 1887 โดยสมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมพระยาเทวะวงศ์ วโรปการฯ เสนาบดีกระทรวงการต่างประเทศ ทรงลงพระนามใน ปฏิญญาว่าด้วยพระราชไมตรีและการพาณิชย์ระหว่างประเทศสยามและประเทศญี่ปุ่น ขณะเสด็จเยือนญี่ปุ่นในโอกาสเสด็จกลับจากประเทศอังกฤษ ซึ่งเป็นความสัมพันธ์ทางการทูตที่รัฐบาลสมัยเมจิได้ลงนามกับประเทศเอเชียตะวันออกเฉียงใต้เป็นครั้งแรก จากนั้น ได้มีการสถาปนาสถานเอกอัครราชทูตทั้งที่โตเกียว และ กรุงเทพฯ และสมเด็จเจ้าฟ้าภาณุรังษีสว่างวงศ์ ได้เสด็จประเทศญี่ปุ่นในปี ค.ศ. 1890 การเสด็จประเทศญี่ปุ่นของพระราชวงศ์ และการเยือนของบุคคลชั้นนำจากประเทศไทยนำไปสู่การส่งที่ปรึกษาญี่ปุ่นมาประเทศไทย มีที่ปรึกษาชาวต่างประเทศหลายท่านที่ช่วยในกระบวนการพัฒนาสู่ความทันสมัย แต่จะขอกล่าวเรื่องที่น่าสนใจเกี่ยวกับที่ปรึกษาชาวญี่ปุ่นบางท่าน
เรื่องแรกเป็นเรื่องเกี่ยวกับโรงเรียนราชินี ครูใหญ่คนแรกของโรงเรียนราชินีเป็นสุภาพสตรีชาวญี่ปุ่นชื่อ นางสาวยาซุย เท็ตสึ ความเป็นมาของเรื่องนี้สืบเนื่องจากที่โรงเรียนสตรีแห่งแรก ซึ่งพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 5 ทรงตั้งขึ้น ต้องปิดลงเพราะระบบการศึกษาแบบตะวันตกไม่ค่อยเหมาะกับประเทศไทย ต่อมา สมเด็จพระบรมโอรสาธิราช เจ้าฟ้าวชิราวุธฯ สยามมกุฎราชกุมาร ได้ถวายรายงานเกี่ยวกับระบบการศึกษาสำหรับสตรีของญี่ปุ่นครั้งเมื่อพระองค์ได้เสด็จฯ ณ ประเทศญี่ปุ่นหลังการเสด็จฯ ประเทศอังกฤษในปี ค.ศ. 1902 Mr. Inagaki หัวหน้าคณะทูตญี่ปุ่นประจำกรุงเทพฯ ได้รับคำขอให้ช่วยส่งที่ปรึกษาด้านการศึกษาสำหรับสตรี รัฐมนตรีว่าการศึกษาธิการญี่ปุ่นจึงได้ทาบทาม นางสาวยาซุย เท็ตสึ ซึ่งกลับจากการไปศึกษาที่ประเทศอังกฤษเป็นเวลาสามปี และกำลังเป็นครูสอนที่โรงเรียน แรกทีเดียวนางสาวยาซุย เท็ตสึ ลังเล แต่ต่อมาก็ตกลงและเดินทางมาประเทศไทย เมื่อปี ค.ศ. 1904 และกลายเป็นครูใหญ่คนแรกของโรงเรียนราชินีเป็นเวลา 3 ปี เมื่อคุณครูยาซุย ได้เดินทางกลับญี่ปุ่นในเวลาต่อมา ก็ได้ตั้งสถาบันการศึกษาที่มีชื่อเสียงมาก ได้แก่ Tokyo Women’s Christian University การอุทิศตนเพื่อการศึกษาของสตรียังเป็นที่จดจำของโรงเรียนจนทุกวันนี้ เมื่อผมไปเยี่ยมโรงเรียนราชินีในปีที่ผ่านมา ได้พบว่ายังมีภาพของคุณครูยาซุย และสายตาที่มองดูนักเรียนจากในภาพก็เปี่ยมด้วยความเอาใจใส่และอ่อนโยน
ดร.มะซะโอะ โทกิชิ (Dr. Masao Tokichi) คือที่ปรึกษาอีกท่านหนึ่งที่มาจากประเทศญี่ปุ่นในปี ค.ศ. 1897 ในเวลานั้น ประเทศไทยกำลังพยายามก่อตั้งระบบกฎหมายสมัยใหม่เพื่อให้รับกับเงื่อนไขในการเจรจาทบทวนสนธิสัญญาที่ไม่เสมอภาค ขณะที่รัฐบาลญี่ปุ่นก็ได้เริ่มการเจรจากับประเทศตะวันตกเพื่อฟื้นสิทธิด้านภาษี ดร.มะซะโอะ เดินทางมาประเทศไทย เพื่อให้ความช่วยเหลือการดำเนินความพยายามของรัฐบาลไทยด้วยประสบการณ์ของญี่ปุ่น ท่านช่วยร่างกฏหมายอาญาและจัดทำกฏหมายพาณิชย์ ต่อมาได้รับแต่งตั้งเป็นหัวหน้าคณะผู้แทนญี่ปุ่นประจำกรุงเทพฯ เพื่อส่งเสริมความสัมพันธ์ทางการทูต แต่เป็นที่น่าเสียดายที่ท่านเสียชีวิตลงที่กรุงเทพฯ ระหว่างได้รับมอบหมายหน้าที่
เรื่องราวความสัมพันธ์ในศตวรรษที่ 19 เรื่องสุดท้าย เกี่ยวกับ ‘วัด Nittaiji‘ หรือ “วัดญี่ปุ่น-ไทย” สร้างขึ้นที่ นาโกย่าในปลายศตวรรษ ในปี ค.ศ. 1898 นักโบราณคดีชาวอังกฤษ ได้พบหม้อดินบรรจุอัฐิมนุษย์ในภาคเหนือของประเทศอินเดีย ซึ่งภายหลังมีการยืนยันจากการถอดข้อความโบราณจารึกบนหม้อว่าเป็นอัฐิ หรือพระบรมสารีริกธาตุของพระพุทธเจ้า รัฐบาลอังกฤษได้ทูลเกล้าถวายพระบรมสารีริกธาตุที่ทรงคุณค่ายิ่งนี้แด่ สมเด็จพระเจ้าอยู่หัวรัชกาลที่ 5 และประดิษฐานไว้ ณ วัดสระเกศ เมื่อประเทศญี่ปุ่นได้ขอมีส่วนร่วมบูชาพระธาตุ สมเด็จพระเจ้าอยู่หัวรัชกาลที่ 5 จึงทรงมอบพระบรมสารีริกธาตุเป็นของขวัญแก่ชาวญี่ปุ่นทั้งมวลไม่ว่าจะสังกัดนิกายใด ผู้นำทางพุทธศาสนาทุกนิกายของญี่ปุ่นได้หารือและเห็นชอบในการให้ความร่วมมือจัดสร้างวัดแห่งใหม่เพื่อรับของขวัญชิ้นนี้ โดยไม่ขึ้นสังกัดสำนักใดสำนักหนึ่ง สมเด็จ พระเจ้าอยู่หัวรัชกาลที่ 5 ได้พระราชทานพระบรมสารีริกธาตุ พระพุทธรูปทอง และพระราชทานทุนทรัพย์บางส่วนสำหรับใช้ในการสร้างวัด Nittaiji ซึ่งสร้างขึ้นในปี ค.ศ. 1904 เมื่อสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวรัชกาลที่ 9 เสด็จพระราชดำเนินเยือนประเทศญี่ปุ่นใน ปี ค.ศ. 1963 ได้เสด็จฯ ณ วัด Nittaiji ด้วย พระอุโบสถหลังใหม่สำหรับประดิษฐานพระพุทธรูปทองสร้างเสร็จในปี ค.ศ. 1984 ภายในวัดได้จัดแสดงพระราชหัตถเลขาในสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวรัชกาลที่ 9 หน้าพระอุโบสถประดิษฐานพระบรมราชานุสาวรีย์รัชกาลที่ 5 ซึ่งสร้างเสร็จเมื่อปี ค.ศ. 1987 วัด Nittaiji จึงเป็นสัญญลักษณ์แห่งสัมพันธไมตรีอันดีระหว่างประเทศญี่ปุ่นและประเทศไทย
ดังที่ได้กล่าวมาข้างต้น ตั้งแต่ศตวรรษที่ 19 ต่อเนื่องถึงศตวรรษที่ 20 ท่ามกลางการก้าวสู่ความทันสมัย และการติดต่อสัมพันธ์กับประชาคมโลก ความสัมพันธ์ทวิภาคีระหว่างประเทศไทยและประเทศญี่ปุ่นได้ขยายตัวกว้างขวางยิ่งขึ้น ใน ปีค.ศ. 1952 ได้มีการฟื้นฟูสัมพันธ์ทางการทูตระหว่างสองประเทศภายหลังการสิ้นสุดสงครามโลกครั้งที่ 2
5. ความสัมพันธ์ไทย-ญี่ปุ่น ในปัจจุบัน
ดังที่ได้กล่าวในตอนต้น ความสัมพันธ์ระหว่างประเทศไทยและประเทศญี่ปุ่นในปัจจุบัน มีความใกล้ชิดและดำเนินไปอย่างดียิ่งในแทบทุกสาขา
- ความสัมพันธ์ระหว่างพระราชวงศ์
- การแลกเปลี่ยนระดับประชาชน
- ความสัมพันธ์ทางการเมือง
- ความสัมพันธ์ด้านเศรษฐกิจ
พระราชไมตรีอันใกล้ชิดระหว่างพระราชวงศ์ไทยและพระราชวงศ์ญี่ปุ่นได้เริ่มขึ้นในศตวรรษที่ 19 และได้มีการเจริญพระราชไมตรีอย่างใกล้ชิดยิ่งขึ้นมาจนทุกวันนี้
สมเด็จพระจักรพรรดิแห่งญี่ปุ่นได้เสด็จพระราชดำเนินเยือนประเทศไทย 3 ครั้ง ครั้งแรก เมื่อดำรงพระอิสริยยศมกุฎราชกุมาร และในปี ค.ศ. 1991 ได้เสด็จพระราชดำเนินเยือนประเทศไทยเป็นประเทศแรกในฐานะสมเด็จพระจักรพรรดิ ต่อมาในปี ค.ศ. 2006 ได้เสด็จพระราชดำเนินมาทรงร่วมงานพระราชพิธีฉลองสิริราชย์สมบัติ 60 ปี พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวฯ เมื่อครั้งพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวฯ เสด็จพระราชดำเนินเยือนประเทศญี่ปุ่นในปี ค.ศ. 1963 สื่อของญี่ปุ่นรายงานว่าแม้เป็นการเสด็จพระราชดำเนินเยือนประเทศญี่ปุ่นครั้งแรก แต่พระองค์ทรงคุ้นเคยกับวิถีชีวิตแบบญี่ปุ่น และเสวยอาหารญี่ปุ่นสัปดาห์ละหนึ่งครั้ง นอกจากนี้ ยังมีการแลกเปลี่ยนหลากหลาย รวมถึงการเสด็จเป็นทางการและไม่เป็นทางการของพระราชวงศ์ การแลกเปลี่ยนและการเยี่ยมเยือนมีส่วนสำคัญในการส่งเสริมความรู้สึกที่ดีระหว่างประชาชนของทั้งสองประเทศ
ความผูกพันผ่านการแลกเปลี่ยนระหว่างประชาชนกับประชาชนได้เป็นรากฐานของความสัมพันธ์ระหว่างสองประเทศ ข้อมูลที่มีการแจ้ง ณ สถานทูตญี่ปุ่น ณ ปี 2009 มีชาวญี่ปุ่นจำนวนประมาณ 47,000 คนพำนักในประเทศไทย จำนวนที่แท้จริงจะสูงกว่านี้หากนับรวมผู้ที่มิได้แจ้งสถานทูตฯ ชาวญี่ปุ่นที่เดินทางมาประเทศไทยมีประมาณ 1 ล้านคนต่อปี และ คนไทย 170,000 คน เดินทาง ไปญี่ปุ่น เป็นที่น่ายินดีที่ผลการสำรวจไม่นานมานี้ระบุว่า ญี่ปุ่นเป็นประเทศที่คนไทยอยากไปมากที่สุด และผมก็อยากเห็นคนไทยเดินทางไปญี่ปุ่นมากขึ้น
กล่าวถึงการแลกเปลี่ยนระดับประชาชน ก็ต้องไม่ลืมการแลกเปลี่ยนนักศึกษา เป็นเวลานานกว่าหนึ่งร้อยปีแล้วนับตั้งแต่ สมเด็จพระนางเจ้าเสาวภาผ่องศรี พระบรมราชินีนาถ ทรงส่งนักศึกษาไทยชุดแรกประกอบด้วย นักศึกษาชาย 4 คน และนักศึกษาหญิง 4 คน ไปเรียนที่ประเทศญี่ปุ่นในปี 1902 ปัจจุบันมีศึกษาไทยมากกว่า 2,000 คน กำลังศึกษาในประเทศญี่ปุ่น เมื่อเดินทางกลับประเทศไทย นักเรียนเก่าญี่ปุ่นก็มีบทบาทและประสบความสำเร็จในสาขาต่างๆ ในปี ค.ศ. 1951 ได้ก่อตั้งสมาคมนักเรียนเก่าญี่ปุ่นในประเทศไทย เป็นสมาคมนักเรียนเก่าญี่ปุ่นแห่งแรกในเอเชีย และอยู่ในพระบรมราชูปถัมภ์ในพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว นักเรียนเก่าญี่ปุ่นมีบทบาทสำคัญในการเป็นสะพานเชื่อมสัมพันธ์ระหว่างสองประเทศ
ประเทศไทยและประเทศญี่ปุ่นมีความสัมพันธ์ทางการเมืองที่ดีต่อกัน เมื่อนายกรัฐมนตรี อภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ เข้าดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรี ก็ได้เดินทางไปประเทศญี่ปุ่นเป็นประเทศแรกของการเดินทางเยือนต่างประเทศนอกกลุ่มประเทศอาเซียน ซึ่งยืนยันถึงความสำคัญของความสัมพันธ์ทวิภาคี
ในการรักษาสันติภาพและเสถียรภาพของเอเชีย-แปซิฟิก ในยุคหลังสงครามโลกครั้งที่ 2 ประเทศญี่ปุ่นและประเทศไทยดำเนินบทบาทสำคัญในฐานะเป็นพันธมิตรของสหรัฐ ท่ามกลางความเปลี่ยนแปลงของสถานการณ์ระหว่างประเทศหลังสิ้นสุดยุคสงครามเย็น ทั้งสองประเทศได้เสริมสร้างและขยายความร่วมมือเพื่อส่งเสริมความมั่นคงของภูมิภาค ตัวอย่างที่ชัดเจนได้แก่ความร่วมมือว่าด้วยการเจรจาสันติภาพกัมพูชา ในการประชุมเรื่องกัมพูชาจัดขึ้นที่โตเกียวเมื่อเดือนมิถุนายน ค.ศ. 1990 รัฐบาลญี่ปุ่นกับรัฐบาลไทยได้ทำงานร่วมกันเพื่อให้บรรลุการตกลงระหว่างเขมร 4 ฝ่าย เป็นความช่วยเหลือที่ประสบผลสำเร็จจากความพยายามร่วมกัน อีกตัวอย่างของความร่วมมือด้านการเมืองและการทหารที่เด่นชัดได้แก่ การส่งกองกำลังนานาชาติไปติมอร์ตะวันออกในปี ค.ศ. 1999 รัฐบาลไทยได้ส่งกองกำลังเข้าร่วมกับ กองกำลังนานาชาติในติมอร์ตะวันออก (International Force for East Timor – INTERFET) และรัฐบาลญี่ปุ่นได้จัดสรรงบจำนวน 100 ล้านดอลล่าร์สหรัฐเพื่อสนับสนุนการดำเนินกิจกรรมของ INTERFET ต่อมารัฐบาลญี่ปุ่นได้ส่งเจ้าหน้าที่กองกำลังป้องกันตนเองมากกว่า 2,300 นายไปปฎิบัติการช่วยเหลือร่วมกับคณะปฎิบัติงานของสหประชาชาติในติมอร์ตะวันออก (United Nations Missions in East Timor)
ในระยะไม่กี่ปีมานี้ กองทัพอากาศของไทยและกองกำลังป้องกันตนเองของญี่ปุ่นได้พัฒนาความร่วมมืออย่างเป็นรูปธรรมในการสนับสนุนสันติภาพระหว่างประเทศด้วยความเข้มแข็ง ตัวอย่าง เช่น ในการช่วยเหลือฟื้นฟูอัฟกานิสถาน กองทัพอากาศไทยได้ส่งหน่วยช่างไปไปอัฟกานิสถานในปี ค.ศ. 2003 และกองกำลังป้องกันตนเองทางทะเลของญี่ปุ่นได้ให้การสนับสนุนด้านการขนส่ง ในการขานรับปัญหาพิบัติภัยจากสึนามิในปี ค.ศ. 2003 กองกำลังป้องกันตนเองได้ช่วยในปฎิบัติการบรรเทาทุกข์ รวมถึงการค้นหา และช่วยเหลือผู้ประสบภัย ให้ความช่วยเหลือด้านการแพทย์ ป้องกันการระบาดของโรค และขนส่งอุปกรณ์บรรเทาทุกข์ ตั้งแต่ปี ค.ศ. 2005 กองกำลังป้องกันตนเองได้เข้าเป็นสมาชิกอย่างเป็นทางการของการฝึก คอบร้าโกลด์ ที่มุ่งหมายเพื่อประกันสันติภาพและความมั่นคงของภูมิภาค การแลกเปลี่ยนบุคลากรที่ดำเนินมายาวนานได้เสริมสัมพันธไมตรีอันดีให้ยิ่งเข้มแข็ง มีข้าราชการทหารไทยมากกว่า 200 นาย ได้ไปศึกษาที่สถาบันป้องกันตนแห่งชาติ (National Defense Academy) ประเทศญี่ปุ่น และมีเจ้าหน้าที่ญี่ปุ่นจำนวนไม่น้อยศึกษาที่โรงเรียนเสนาธิการทหารบก (Army Command and General Staff College) ประเทศไทย
ต่อไปจะขอพูดเกี่ยวกับความสัมพันธ์ด้านเศรษฐกิจ ญี่ปุ่นเป็นประเทศคู่ค้ารายใหญ่ที่สุดของประเทศไทย เป็นลำดับที่สามในด้านการส่งออกและสำดับที่หนึ่งในด้านการนำเข้า ญี่ปุ่นยังเป็นนักลงทุนต่างประเทศรายใหญ่ที่สุดของประเทศไทย มีสัดส่วนการลงทุนคิดเป็นประมาณร้อยละ 40 ของยอดการลงทุนจากต่างประเทศ ประเทศไทยเป็นคู่ค้ารายใหญ่ที่สุดในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ของญี่ปุ่น และเป็นลำดับที่ 8 ของคู่ค้าของญี่ปุ่นทั่วโลก หอการค้าญี่ปุ่นในกรุงเทพฯ มีบริษัทสมาชิกมากกว่า 1,300 ราย เป็นหอการค้าญี่ปุ่นที่ใหญ่ที่สุดในโลก ประมาณว่าหากนับรวมบริษัทที่ไม่ได้เป็นสมาชิกหอการค้าญี่ป่น จะพบว่ามีบริษัทญี่ปุ่นมากกว่า 6,000 บริษัทในประเทศไทย บริษัททั้งที่เป็นสมาชิกและไม่ได้เป็นสมาชิกหอการค้า สร้างงานมากกว่า 510,000 ตำแหน่ง
ถึงแม้ว่าในปัจจุบันทั้งสองประเทศมีมิตรไมตรีที่ดีและใกล้ชิดต่อกัน แต่ที่ผ่านมาก็มีช่วงเวลาแห่งความยุ่งยากที่เราต้องร่วมกันก้าวข้าม หลายท่านอาจยังจำการเคลื่อนไหวต่อต้านสินค้าญี่ปุ่นในต้นทศวรรษ 1970 นับตั้งแต่นั้นมาประเทศไทยได้ดำเนินนโยบายนำเข้าทุนจากต่างประเทศ ปฏิรูปกฏกติกา และส่งเสริมการผ่อนคลายข้อจำกัดการลงทุนจากต่างประเทศ ในส่วนของญี่ปุ่น ได้ส่งเสริมความร่วมมือด้านเศรษฐกิจเพื่อสนับสนุนการเติบโตทางเศรษฐกิจของประเทศไทยในสาขา เช่น การปรับปรุงพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานทางเศรษฐกิจ และการพัฒนาทรัพยากรมนุษย์ ตัวอย่างเช่น ความช่วยเหลือที่รัฐบาลญี่ปุ่นให้แก่ ”โครงการพัฒนาชายฝั่งทะเลตะวันออก” เพื่อช่วยส่งเสริมสถานการณ์การลงทุนในประเทศไทยซึ่งดำเนินการอย่างเข้มแข็งโดยรัฐบาลไทยในเวลานั้น
หลังการตกลง Plaza Accord ในปี ค.ศ. 1985 บริษัทญี่ปุ่นได้เริ่มย้ายแหล่งผลิตจากญี่ปุ่นไปยังต่างประเทศ หรือขยายการจัดหาชิ้นส่วนจากต่างประเทศเพื่อชดเชยการแข็งค่าอย่างมากของเงินเยน บริษัทญี่ปุ่นจำนวนมากเลือกลงทุนในประเทศไทยอันเป็นผลจากการพัฒนาที่ก่อให้เกิดความได้เปรียบในด้านสถานการณ์การลงทุน บริษัทญี่ปุ่นเหล่านี้ได้สร้างการจ้างงาน พร้อมทั้งพยายามอย่างเต็มที่เพื่อเป็นสมาชิกที่ดีในสังคมไทย ปฏิสัมพันธ์ระหว่างชาวญี่ปุ่นและชาวไทยก็ขยายตัวสอดคล้องกับการเพิ่มขึ้นของจำนวนชาวญี่ปุ่นในประเทศไทย ปฏิสัมพันธ์ต่อกันมีบทบาทสำคัญในการนำมาซึ่งมิตรไมตรีอันดีระหว่างกันดังเช่นปัจจุบัน
เมื่อเกิดวิกฤตการการเงินในเอเชีย หรือ ต้มยำกุ้ง ในปี ค.ศ. 1997 รัฐบาลญี่ปุ่นได้เป็นผู้นำในการประสานความร่วมมือกับองค์การนานาชาติและประเทศ G7 ระดมเครื่องมือทางการเงินที่มีช่วยเหลือฟื้นฟูและสร้างเสถียรภาพแก่เศรษฐกิจเอเชีย ในการประชุมประจำปีของ IMF และธนาคารโลก ในปี 1998 ได้นำเสนอการริเริ่มแผน “The New Miyazawa Initiative” เป็นโครงการสนับสนุนทางการเงินมูลค่า 30,000 ล้านดอลล่าร์ให้แก่เอเชีย เป็นความช่วยเหลือจำนวนสูงสุดในขณะนั้น คนไทยจำนวนมาก รวมทั้งนายกรัฐมนตรีอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ ได้บอกแก่ข้าพเจ้าว่า ในช่วงการเกิดวิกฤตการเงินในเอเชีย บริษัทต่างประเทศหลายบริษัทได้ย้ายจากประเทศไทย ขณะที่บริษัทญี่ปุ่นยังคงอยู่ในประเทศไทย จำนวนบริษัทสมาชิกหอการค้าญี่ปุ่นหลังปี ค.ศ. 1997 อยู่ในระดับเดียวกับก่อนการเกิดวิกฤต เมื่อเพื่อนชาวไทยกล่าวถึงประสบการณ์ครั้งนั้นและบอกว่า เพื่อนในยามยากคือเพื่อนแท้ ก็ทำให้รู้สึกดีใจ
สิ่งเหล่านี้สร้างความมั่นคงของความสัมพันธ์ทางเศรษฐกิจระหว่างญี่ปุ่นกับไทย ในปี ค.ศ. 2007 ความตกลงหุ้นส่วนเศรษฐกิจญี่ปุ่น-ไทย มีผลบังคับใช้ ทำให้สามารถยกเลิกภาษีศุลกากรของสินค้านำเข้าและส่งออกมากกว่าร้อยละ 90 ช่วยเสริมสร้างความร่วมมือให้ยิ่งเข้มแข็งในสาขาต่างๆ เช่น การขยายการลงทุน การเปิดเสรีด้านบริการ และส่งเสริมความร่วมมือใน 9 สาขา เช่น การพัฒนาทรัพยากรมนุษย์ ส่งเสริมธุรกิจสิ่งแวดล้อม วิทยาศาสตร์ และเทคโนโลยี และ ทุกวันนี้ มีการดำเนินความร่วมมือหลากหลายภายใต้ความเป็นหุ้นส่วนที่เข้มแข็ง
6. ความร่วมมือทวิภาคี ในอนาคต
ได้กล่าวย้อนถึงความสัมพันธ์ไทย-ญี่ปุ่น ผ่านกาลเวลายาวนานตั้งแต่เริ่มต้นจนถึงปัจจุบัน ด้วยความสัมพันธ์ที่ดำเนินมาอย่างมั่นคงและยืนยงนี้ อยากให้พิจารณาว่าเราจะยกระดับความสัมพันธ์ทวิภาคีต่อไปเช่นไรสู่อนาคต จึงขอกล่าวถึงประเด็น 4 ประเด็น คือ อนาคตของความเป็นหุ้นส่วนทางเศรษฐกิจ ความร่วมมือในการพัฒนาภูมิภาคลุ่มน้ำโขง การเอาชนะความเหลื่อมล้ำทางเศรษฐกิจในสังคม และปัญหาสิ่งแวดล้อม
- ความเป็นหุ้นส่วนทางเศรษฐกิจระหว่างประเทศญี่ปุ่นกับประเทศไทย
- การพัฒนาภูมิภาคลุ่มน้ำโขง
- การเอาชนะความแตกต่างทางเศรษฐกิจในสังคม
- ปัญหาสิ่งแวดล้อม
ก่อนอื่น จะขอเริ่มด้วยความเป็นหุ้นส่วนทางเศรษฐกิจระหว่างประเทศญี่ปุ่นกับประเทศไทย นักลงทุนญี่ปุ่นและบริษัทญี่ปุ่นต้องการจะลงทุนในประเทศไทยต่อไปเพื่อการแข่งขันในตลาดโลกผ่านความ เป็นหุ้นส่วนกับประเทศไทย เพื่อให้บรรลุเป้าหมาย ความมีเสถียรภาพและความสามารถในการคาดการณ์สภาวะการลงทุนเป็นเรื่องสำคัญยิ่ง ยามที่นักลงทุนญี่ปุ่นและบริษัทญี่ปุ่นตัดสินใจเรื่องการลงทุนในต่างประเทศพวกเขากำลังจะประสบความยุ่งยากในการเลือกตัวเลือก เพราะว่าการลงทุนในต่างประเทศอาจทำให้อุตสาหกรรมเกิดช่องว่างภายในและการจ้างงานในประเทศญี่ปุ่นลดลง เราได้ก้าวสู่ยุคใหม่ที่บริษัทรถยนตร์ญี่ปุ่นในประเทศไทยเริ่มต้นผลิตรถยนตร์เพื่อส่งออกไปประเทศญี่ปุ่น แม้การดำเนินการเช่นนี้จะทำให้การจ้างงานในประเทศญี่ปุ่นยิ่งลดน้อยลง แต่บริษัทญี่ปุ่นยังคงเสริมสร้างความเป็นหุ้นส่วนกับประเทศไทยเพื่อให้สามารถยืนหยัดในโลกการแข่งขัน แต่ ปัญหามาบตาพุดก็จู่โจมนักลงทุนอย่างฉับพลัน แก่นของปัญหาสำหรับนักลงทุนคือการก่อสร้าง หรือปฎิบัติการภายในโรงงานต้องหยุดทันทีแม้ว่าในความเป็นจริง โรงงานจะได้รับอนุญาตถูกต้องก็ตาม หากว่าการลงทุนโครงการสำคัญสามารถถูกรบกวนในลักษณะเช่นนี้ ความเป็นหุ้นส่วนอาจเสียหายรุนแรงตั้งแต่รากฐาน ความเสียหายอันเนื่องมาจากการประท้วงของ นปช เป็นปัญหาอีกประการหนึ่ง ผู้ดำเนินธุรกิจจำนวนมากรวมถึงบริษัทญี่ปุ่นล้วนได้รับผลกระทบรุนแรงจากการประท้วง จึงสำคัญสำหรับประเทศไทยในการจะยอมรับว่าความมีเสถียรภาพของบรรยากาศการลงทุนคือเงื่อนไขที่จำเป็นของการไป สู่ความรุ่งเรืองสำหรับประเทศไทยและประเทศญี่ปุ่น และต่อการจะดำเนินนโยบายและมาตรการจำเป็นในการแก้ไขปัญหาที่กำลังค้างคา รวมถึงปัญหามาบตาพุด
การส่งเสริมการตกลงการค้าเสรีเป็นอีกประเด็นหนึ่งที่กำลังคอยประเทศไทยอยู่ข้างหน้าอย่างจดจ่อ การจะดำรงความสามารถในการแข่งขันของประเทศไทยในฐานะประเทศเป้าหมายของการลงทุน ประเทศไทยจำเป็นต้องติดตามนโยบาย FTA ของประเทศอื่นๆ ให้ทัน คู่แข่งที่มีศักยภาพจะดำเนินความพยายามเพื่อการบรรลุข้อตกลง FTA ใหม่ๆ หากตามไม่ทัน จะมีผลโดยตรงต่อความสามารถในการแข่งขันของประเทศไทย ผมเชื่อว่าจะสามารถเอาชนะปัญหาเหล่านี้ด้วยการเจรจาอย่างอดทนและไตร่ตรองแก้ไขปัญหาอย่างสร้างสรรค์
ยิ่งกว่านั้น การส่งเสริมการรวมตัวทางเศรษฐกิจของอาเซียนก็เป็นปัจจัยสำคัญ ด้วยจำนวนประชากร 575 ล้านคนซึ่งมากกว่าจำนวนประชากรในอียู แต่ปัจจุบันเศรษฐกิจอาเซียนยังคงอยู่ที่ระดับต่ำกว่าร้อยละ 8 ของเศรษฐกิจอียู ตัวเลขนี้แสดงให้เห็นศักยภาพในการเติบโตของอาเซียนในฐานะเป็นภูมิภาค หากอาเซียนมีสถานภาพทางเศรษฐกิจดังที่เป็นอยู่ก็สามารถพัฒนาเศรษฐกิจให้เหมือนอียูได้ และจะสามารถเพิ่มขีดความสามารถด้านการแข่งขันในการดึงดูดการลงทุนมากขึ้น หากอาเซียนดำเนินความพยายามต่อเนื่องในการรวมเศรษฐกิจและปรับปรุงการเชื่อมต่อภายในภูมิภาคดังเช่นที่อียูได้ดำเนินการมาตลอดหลายปี ก็จะนำไปสู่การพัฒนาความสามารถของการแข่งขันในสากล และความรุ่งเรืองสำหรับประเทศไทย การรวมตัวกันของเศรษฐกิจอาเซียนเป็นเป้าหมายสำคัญ ขณะเดียวกันควรส่งเสริมความร่วมมือระหว่างญี่ปุ่นกับประเทศลุ่มน้ำโขงด้วย
ภูมิภาคลุ่มน้ำโขงมีศักยภาพสูงที่จะพัฒนาทางเศรษฐกิจ แต่ยังมิได้ใช้ศักยภาพที่มีอย่างเต็มที่ เพื่อใช้ศักยภาพที่มีให้เกิดประโยชน์เราควรพยายามสร้างการพัฒนาให้ทั่วทั้งภูมิภาค การเชื่อมข้ามเขตแดนเป็นสิ่งสำคัญ แต่ความแตกต่างกันภายในภูมิภาคลุ่มน้ำโขงทำให้ยากต่อการเกิดการเชื่อมต่อ ขณะที่ความร่วมมือในภูมิภาคกำลังก้าวรุดหน้าที่จะลดความแตกต่าง ข้าพเจ้าเชื่อว่าญี่ปุ่นควรสนับสนุนกระบวนการนี้อย่างสร้างสรรค์ ความมั่นคงและเจริญรุ่งเรืองของภูมิภาคลุ่มน้ำโขงสามารถเกื้อหนุนต่อการลดความแตกต่างภายในอาเซียนในขณะที่อาเซียนกำลังวางแผนก่อตั้งชุมชนอาเซียนภาย ในปี ค.ศ. 2015 อาเซียนได้ย้ำว่าหนึ่งในเป้าหมายคือการเสริม“การเชื่อมต่อ” ให้แข็งแกร่งนั้น จะสามารถสร้างโอกาสทางธุรกิจในภูมิภาคลุ่มน้ำโขง เพราะว่าการขาดแคลนเครือข่ายทั้งฮาร์ดแวร์และซอฟท์แวร์ในหมู่ฐานการผลิตและโรงงานอุตสาหกรรมที่กระจายทั่วภูมิภาคลุ่มน้ำโขงทำให้การดำเนินการภาคเศรษฐกิจล่าช้า
ในเดือนพฤศจิกายน 2009 ได้มีการจัดประชุมสุดยอดญี่ปุ่นและประเทศลุ่มน้ำโขงห้าประเทศครั้งแรก ณ กรุงโตเกียว ผู้นำของทุกประเทศมีความเห็นพ้องกันว่า ญี่ปุ่นและประเทศลุ่มน้ำโขงควรระดมทรัพยากรเพื่อการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานทั้งระบบ และจัดการปัญหาที่ท้าทาย “ความมั่นคงของมนุษย์” เช่น ความเหลื่อมล้ำทางเศรษฐกิจ ความเสื่อมโทรมด้านสิ่งแวดล้อม การเปลี่ยนแปลงของสภาวะบรรยากาศ โรคติดต่อ และภัยธรรมชาติ ภายหลังการประชุมได้มีการประกาศ “ปฏิญญาโตเกียว” (Tokyo Declaration) และ”แผนปฎิบัติการ 63” (Action Plan 63) ญี่ปุ่นให้ความสำคัญต่อการพัฒนาลุ่มน้ำโขง จึงดำเนินนโยบายขยายการให้ความช่วยเหลือเพื่อการพัฒนาอย่างเป็นทางการ (ODA) แก่กลุ่มประเทศ CLV ได้แก่ กัมพูชา ลาว และ เวียดนาม ญี่ปุ่นได้ตกลงให้ความช่วยเหลือ ODA มากกว่า 500,000 ล้านเยนเพื่อภูมิภาคลุ่มน้ำโขงในระยะเวลา 3 ปี พร้อมทั้งมีมติให้มีการประชุมสุดยอดทุกปี และการประชุมครั้งต่อไปจะมีที่ กรุงฮานอย ในเดือนตุลาคม ปีนี้
ผมเชื่อว่าประเทศไทยและประเทศญี่ปุ่นจะสามารถทำงานร่วมกันเพื่อความมุ่งมั่นสำคัญของภูมิภาค ในเดือนกันยายน ญี่ปุ่นและไทยเป็นเจ้าภาพร่วมของการประชุมแม่โขง-ญี่ปุ่น ที่ กรุงเทพฯ เพื่อหารือประเด็นการพัฒนาลุ่มน้ำโขง ซึ่งรวมถึงการปรับปรุงการเชื่อมการขนส่งในเส้นทางการพัฒนาแนวพื้นที่เศรษฐกิจเฉพาะฝั่งตะวันออก-ตะวันตก
ประเด็นที่จะพูดต่อไป คือความแตกต่างทางเศรษฐกิจในสังคม ประเทศไทยต้องเผชิญกับแรงกดดันในอันจะบรรเทาความแตกต่างทางเศรษฐกิจท่ามกลางการเติบโตทางเศรษฐกิจอย่างรวดเร็ว ตามความเห็นของผม เห็นว่าการปรับปรุงระบบความมั่นคงทางสังคม (social security) คือหนึ่งในวิธีแก้ปัญหานี้ การสร้างพลังให้ชนชั้นกลางด้วยการขยายระบบประกันสังคมที่ทุกคน ในสังคมจะได้รับการแบ่งปันผลของการเติบโตของเศรษฐกิจเป็นผลให้ ประเทศญี่ปุ่นก้าวสู่การเติบโตสูงทางเศรษฐกิจหลังสงครามโลกครั้งที่ 2 การดำเนินการเช่นนี้ในท้ายสุดจะเอื้อต่อการสร้างสังคมที่มั่นคง
ท่ามกลางการพัฒนาด้านเศรษฐกิจ ประเทศไทยและประเทศในอาเซียนต้องเตรียมรับมือกับปัญหาเกี่ยวกับการเข้าสู่สังคมสูงวัย สังคมที่จำนวนผู้เยาว์มีน้อยลง จึงคิดว่าจำเป็นจะต้องเอาใจใส่ถึงความสำคัญของปัญหานี้ให้มากขึ้น และผมได้เขียนบทความเกี่ยวกับเรื่องนี้ลงพิมพ์ในหนังสือพิมพ์บางกอกโพสต์ เมื่อเดือนตุลาคม 2009 ด้วย นอกจากนี้ เรายังได้จัดประชุมอภิปรายว่าด้วย “ชนชั้นกลางและเครือข่ายความมั่นคงทางสังคม” เมื่อเดือนมีนาคมปีนี้ ที่โรงแรมดุสิตธานี ผู้เข้าร่วมประชุมทุกท่านรวมถึงนายกรัฐมนตรีอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ ที่ได้ร่วมประชุมผ่านวีดิโอ คอนเฟอเรนซ์ และดร.สุรินทร์ พิศสุวรรณ เลขาธิการอาเซียน เห็นด้วยกับความคิดที่ว่าการช่วยผู้สูงอายุที่อ่อนแอเป็นความท้าทายสำหรับทั้งประเทศไทยและประเทศสมาชิกอาเซียน
หากประเทศไทยเห็นว่าประสบการณ์ของญี่ปุ่น ในการจัดการปัญหาสำคัญแต่ยุ่งยากข้อนี้มีค่าแก่การพิจารณา ญี่ปุ่นก็พร้อมจะให้ความร่วมมือสนับสนุนทุกวิถีทาง
สุดท้ายอยากจะหยิบยกปัญหาสิ่งแวดล้อม ซึ่งมีส่วนเกี่ยวกับปัญหามาบตาพุดด้วย พร้อมกับการเติบโตอย่างรวดเร็วของเศรษฐกิจไทย ความรู้สึกห่วงใยในเรื่องสิ่งแวดล้อมของคนไทยก็เพิ่มมากขึ้น ในอดีต ญี่ปุ่นเคยมีประสบการณ์ปัญหาสิ่งแวดล้อมอย่างรุนแรง หลังจากผ่านความยากลำบากและขั้นตอนที่ผิดพลาดในระหว่างเส้นทางการเติบโตอย่างรวดเร็วทางเศรษฐกิจ จึงได้มีการนำระบบกฏหมายสิ่งแวดล้อม และกฏเกณฑ์เข้าบังคับใช้ ผลลัพธ์คือ ปัจจุบันญี่ปุ่นเป็นประเทศแนวหน้าในด้านการรักษาสิ่งแวดล้อม จึงอยากนำเสนอให้ประเทศไทยได้รับรู้ประสบการณ์และข้อผิดพลาดของญี่ปุ่น สื่อมวลชนไทยได้เสนอเรื่องสิ่งแวดล้อมโดยนำตัวอย่างของญี่ปุ่นในการทำงานร่วมกันระหว่างโรงงานและชุมชนในการเอาชนะความเสียหายของสิ่งแวดล้อมบ่อยครั้ง รัฐบาลญี่ปุ่นได้เริ่มความร่วมมือกับรัฐบาลไทยโดยส่งผู้เชี่ยวชาญด้านสิ่งแวดล้อมมาประเทศไทย และเริ่มโครงการเกี่ยวกับสิ่งแวดล้อมโดยกำหนดกฏกติกาเพื่อควบคุมการปล่อยของเสีย
เมื่อไม่นานมานี้ ได้อ่านรายงานข่าวกล่าวว่าบริษัทผลิตไฟฟ้าของไทยร่วมมือกับบริษัทมิตซูบิชิสร้างโรงงานผลิตกระแสไฟฟ้าจากแสงอาทิตย์ใหญ่ที่สุดของโลกที่จังหวัดลพบุรี โรงงานแห่งนี้ใช้เทคโนโลยีโซล่าเซลล์ของบริษัทชาร์ป ปัจจุบัน รัฐบาลไทยให้การส่งเสริมแหล่งพลังงานใหม่ ดังนั้น เชื่อมั่นว่าความร่วมมือของสองประเทศด้วยการใช้เทคโนโลยีสิ่งแวดล้อมของญี่ปุ่นจะ มีศักยภาพสำคัญในการเอาชนะความท้าทายเพื่อให้บรรลุความเติบโตทางเศรษฐกิจควบคู่กับการรักษาสิ่งแวดล้อม
7. บทสรุป
ดังที่ได้บรรยายในตอนต้น ความสัมพันธ์อันยอดเยี่ยมนี้ไม่ได้เป็นไปโดยธรรมชาติ แต่มาจากผลของความพยายามของบุคคลต่างๆ ที่มีส่วนร่วมในการแลกเปลี่ยนตามวาระและโอกาสตลอดระยะเวลา 600 ปีที่ผ่านมา
ประเทศไทย ซึ่งรับรู้กันว่าเป็นประเทศที่เปิดกว้าง เป็นศูนย์กลางของการคมนาคมและเครือข่ายของภูมิภาคในส่วนนี้ของโลก ประเทศไทยยินดีต้อนรับชาวต่างประเทศและวัฒนธรรมต่างประเทศ เมื่อญี่ปุ่นซึ่งตั้งอยู่ทางฝั่งตะวันออกของเอเชียแสวงหาการแลกเปลี่ยนในขอบเขตที่กว้างขวางขึ้น ญี่ปุ่นจึงเสริมสร้างความสัมพันธ์กับประเทศไทยซึ่งเป็นประเทศที่ดำรงความเป็นเอกราช เป็นศูนย์กลางของภูมิภาค และเปิดการติดต่อกับสังคมโลกเสมอมา
ปฏิสัมพันธ์ระหว่างกันนำมาซึ่งประโยชน์อย่างยิ่งแก่ทั้งสองประเทศ และสร้างความมั่งคั่งแก่ชีวิตของประชาชนของทั้งสองประเทศเช่นกัน เราจะมองความสัมพัมพันธ์นี้อย่างฉาบฉวยไม่ได้ ความสัมพันธ์นี้ควรต้องได้รับการทะนุบำรุงเพื่อสืบต่อยังชนรุ่นหลัง เราต้องไม่หยุดที่จะเรียนรู้จากกันและกัน และทำงานร่วมกันเพื่อฟันฝ่าความยากลำบากที่อาจจะเผชิญในอนาคต เพื่อให้ประชาชนไทยและประชาชนญี่ปุ่นได้รับผลดีจากความสัมพันธ์ที่ดียิ่งต่อไปในอนาคต