สารจากนายนะชิดะ คะสุยะ เอกอัครราชทูตญี่ปุ่น ในโอกาสสถาปนาความสัมพันธ์ทางการทูตญี่ปุ่น-ไทย

2023/9/26

มิติใหม่ของความสัมพันธ์ญี่ปุ่น-ไทย: หุ้นส่วนในการสร้างสรรค์ร่วมกัน

amb
        ในวันนี้เมื่อ 136 ปีก่อน ประเทศญี่ปุ่นและประเทศไทยได้เริ่มต้นความสัมพันธ์ทางการทูตต่อกันอย่างเป็นทางการ สายสัมพันธ์อันแน่นแฟ้นระหว่างญี่ปุ่น-ไทยนั้นดำเนินมาอย่างต่อเนื่องยาวนานและได้แผ่ขยายออกไปในหลากหลายสาขา เมื่อไม่กี่วันที่ผ่านมาผมได้มีโอกาสพบปะหารือกับ นายเศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรีไทยและได้เรียนกับท่านนายกว่าทั้งภาครัฐบาลและภาคเอกชนของญี่ปุ่นพร้อมที่จะร่วมมือร่วมใจทำงานกับรัฐบาลนายกเศรษฐา เพื่อพัฒนาความสัมพันธ์ของทั้งสองประเทศจากความร่วมมือหุ้นส่วนทางยุทธศาสตร์อย่างรอบด้าน (Comprehensive Strategic Partnership: CSP) ให้ก้าวหน้าต่อไป

        ปัจจุบัน มีบริษัทญี่ปุ่นราว 6,000 แห่งที่เข้ามาดำเนินธุรกิจในประเทศไทย โดยในช่วง 40 ปีที่ผ่านมานี้ มีเงินลงทุนจากญี่ปุ่นในประเทศไทยเป็นจำนวนรวมมากถึงราว 3.5 ล้านล้านบาท ซึ่งคิดเป็น 40% ของการลงทุนจากต่าง ประเทศ (FDI) ทั้งหมดในช่วงเวลาเดียวกันที่เข้ามาในประเทศไทย และถือว่ามากที่สุดในบรรดาประเทศที่เข้ามาลงทุน ทั้งนี้บริษัทญี่ปุ่นร่วมทำงานกับชาวไทยมาโดยตลอดตั้งแต่อุตสาหกรรมรถยนต์ไปจนถึงธุรกิจต่างๆและมีบทบาทสำคัญในการพัฒนาเศรษฐกิจไทย ในปัจจุบันนี้ไม่เพียงแต่อุตสาหกิจขนาดใหญ่เท่านั้น วิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม (SMEs) รวมไปถึงสตาร์ทอัพของญี่ปุ่นที่มีวิทยาการล้ำสมัย ต่างก็มีความสนใจอย่างยิ่งที่จะเข้ามาลงทุนในประเทศไทย

        นอกจากนี้ ญี่ปุ่นเป็นประเทศที่ให้ความร่วมมือด้านเศรษฐกิจมากที่สุดด้วย (จำนวนเงินรวมทั้งสิ้น 25,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐ) ทั้งท่าอากาศยานสุวรรณภูมิที่เป็นประตูสู่นานาชาติ รถไฟฟ้าสายสีน้ำเงิน สีม่วง และสีแดงซึ่งเป็นเส้นทางคมนาคมสำคัญของกรุงเทพฯ รวมถึงสะพานพระปิ่นเกล้าและสะพานพระราม 9 โครงสร้างพื้นฐานเหล่านี้ รัฐบาลญี่ปุ่นล้วนให้การสนับสนุนทางการเงินในการก่อสร้างทั้งสิ้น

        ผมหวังเป็นอย่างยิ่งว่าต่อจากนี้ไป ชาวญี่ปุ่นกับชาวไทยจะเป็นหุ้นส่วนที่สร้างสรรค์สิ่งใหม่ๆร่วมกัน โดยใช้พื้นฐานที่สั่งสมร่วมกันมาตั้งแต่อดีตจนถึงปัจจุบัน เช่น ระบบอุตสาหกรรมสีเขียว การเกษตรโดยใช้เทคโนโลยี AI  และรถยนต์ไฟฟ้า เป็นต้น รวมถึงการพัฒนาทรัพยากรบุคคลระดับสูงก็มีความสำคัญเช่นกัน ในปีพ.ศ. 2562 ได้มีการเริ่มโครงการสถาบันโคเซ็นในประเทศไทย โดยที่ผ่านมามีนักศึกษาที่สร้างผลงานดีเด่นในการแข่งขันต่างๆมากมาย และนักศึกษาสถาบันโคเซ็นรุ่นแรกกำลังจะจบการศึกษาในปีหน้า นอกจากนี้ในด้านของการท่องเที่ยว นักท่องเที่ยวทั้งสองประเทศต่างเริ่มเดินทางไปมาระหว่างสองประเทศมากขึ้น จนมีจำนวนใกล้เคียงกับช่วงก่อนเกิดวิกฤตโควิด 19 โดยเฉพาะชาวไทยที่ไปเที่ยวภูมิภาคต่างๆของญี่ปุ่นก็มีจำนวนเพิ่มมากขึ้น ในกลุ่มคนหนุ่มสาวมีการติดต่อแลกเปลี่ยนระหว่างกันมากยิ่งขึ้นโดยผ่านกิจกรรมต่างๆ เช่น มหกรรมญี่ปุ่น Nippon Haku, Japan Expo, งานศึกษาต่อประเทศญี่ปุ่น และงานท่องเที่ยวประเทศญี่ปุ่น เป็นต้น

        นอกจากนี้ ปีนี้เป็นปีเฉลิมฉลองครบรอบ 50 ปี ความสัมพันธ์อาเซียน-ญี่ปุ่น ด้วยความร่วมมือในหลากหลายสาขาและการเป็นหุ้นส่วนอันแน่นแฟ้นที่อาเซียนและญี่ปุ่นก่อร่างสร้างมาด้วยกัน ทำให้ในเดือนกันยายนปีนี้ ได้มีการยกระดับความสัมพันธ์อาเซียน-ญี่ปุ่นไปสู่ความร่วมมือหุ้นส่วนทางยุทธศาสตร์อย่างรอบด้าน (CSP) และเพื่อเป็นการพัฒนาความสัมพันธ์อย่างเป็นรูปธรรม ญี่ปุ่นจะส่งเสริมความร่วมมือในการพัฒนาเศรษฐกิจและการเชื่อมโยงภายในภูมิภาคอาเซียนต่อไปให้มากยิ่งขึ้น โดยในเดือนธันวาคมปีนี้จะมีการจัดการประชุมสุดยอดอาเซียน-ญี่ปุ่นสมัยพิเศษขึ้นที่กรุงโตเกียว ในการประชุมนี้อาเซียนและญี่ปุ่นซึ่งเป็นพันธมิตรที่เชื่อถือซึ่งกันและกันได้จะนำทางสู่ยุคสมัยใหม่ และประกาศแผนการที่จะสร้างความเจริญรุ่งเรืองอย่างยั่งยืน ไม่เพียงแค่ในภูมิภาคอินโด-แปซิฟิกเท่านั้น แต่รวมไปถึงทั่วทั้งโลก ในการนี้ ผมมีความตั้งใจที่จะร่วมมือกับนายกเศรษฐาเพื่อที่จะขับเคลื่อนพัฒนาความสัมพันธ์อาเซียน-ญี่ปุ่นให้ก้าวไปสู่อีกระดับหนึ่ง
136