การหารือทวิภาคีระหว่างนาย ชินโสะ อาเบะ นายกรัฐมนตรีญี่ปุ่นกับพล.อ. ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีไทย

2018/10/8
นายกรัฐมนตรีไทยร่วมพิธีตรวจแถวกองทหารเกียรติยศ (Public Relations Department, Cabinet Office, Government of Japan)
นายกรัฐมนตรีทั้งสองประเทศจับมือกัน (Public Relations Department, Cabinet Office, Government of Japan)
     วันที่ 8 ต.ค. 2561 นาย ชินโสะ อาเบะ นายกรัฐมนตรีญี่ปุ่นพบหารือทวีภาคีกับพล.อ. ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีไทย ณ ทำเนียบรัฐบาลญี่ปุ่น กรุงโตเกียว ประเทศญี่ปุ่น ก่อนการประชุมผู้นำกรอบความร่วมมือลุ่มน้ำโขงกับญี่ปุ่นครั้งที่10 (the 10th Mekong-Japan Summit) และหลังการหารือ มีการแถลงข่าวร่วมดังนี้
 

1. ช่วงแรกของการหารือ

     นายกรัฐมนตรีญี่ปุ่นรู้สึกยินดีที่ได้พบหารือกันในครั้งนี้และกล่าวว่าปรารถนาที่จะพัฒนาความสัมพันธ์ญี่ปุ่นกับไทยให้แนบแน่นยี่งขึ้น โดยเป็นหุ้นส่วนทางยุทธศาสตร์ซึ่งมีความสัมพันธ์ในหลายด้านและมีความใกล้ชิดอย่างต่อเนื่อง
     นายกรัฐมนตรีไทยมีความยินดีที่ได้พบหารือกันและแสดงความเสียใจต่อเหตุการณ์ภัยพิบัติที่ญี่ปุ่นในช่วงเวลานี้และหวังว่าจะได้รับการฟื้นฟูอย่างสมบูรณ์โดยเร็วที่สุด นายกรัฐมนตรีไทยแสดงความยินดีกับความสัมพันธ์ระหว่างทั้งสองประเทศที่ยาวนานมากกว่า 600 ปีและความสำเร็จของกิจกรรมเฉลิมฉลองการครบรอบความสัมพันธ์ทางการทูตไทย-ญีปุ่น 130 ปีในปีที่ผ่านมาและกล่าวว่าปรารถนาจะส่งเสริมความร่วมมือต่อไป
 

2. สถานการณ์ทางการเมือง

     นายกรัฐมนตรีไทยยืนยันว่าประเทศไทยจะมีการเลือกตั้งภายในเดือนกุมภาพันธ์ปีหน้า นายกรัฐมนตรีญี่ปุ่นหวังว่าประเทศไทยจะกลับสู่ความเป็นประชาธิปไตยโดยเร็ว จากการเลือกตั้งในเดือนกุมภาพันธ์ปีหน้า
 

3. ความร่วมมือลุ่มน้ำโขง

     นายกรัฐมนตรีญี่ปุ่นหวังว่า ยุทธศาสตร์ความร่วมมือทางเศรษฐกิจ อิรวดี-เจ้าพระยา-แม่โขง (Ayeyawady-Chao Phraya-Mekong Economic Cooepration Strategy: ACMECS) ที่ไทยเป็นผู้ริเริ่มหลักจะมีบทบาทนำไปสู่ความร่วมมือระดับภูมิภาค นายกรัฐมนตรีไทยได้เชิญญี่ปุ่นเข้าร่วมเป็นหุ้นส่วนเพื่อพัฒนาของ ACMECS พร้อมร่วมมือกับกองทุน ACMECS ซึ่งให้การสนับสนุนทางการเงินต่อโครงการความร่วมมือหลายอย่างภายใต้ ACMECS
     นายกรัฐมนตรีญี่ปุ่นกล่าวว่าญี่ปุ่นจะพิจารณาการร่วมเป็นหุ้นส่วนเพื่อพัฒนาของ ACMECS และญี่ปุ่นจะส่งเสริม ACMECS ให้มีการพัฒนาอย่างยั่งยืน นอกจากนี้ในปีหน้าในโอกาสที่ไทยจะเป็นเจ้าภาพจัดการประชุมอาเซียน ญี่ปุ่นจะร่วมมือกับไทยเพื่อให้ทุกการประชุมประสบความสำเร็จ
 

4. ความสัมพันธ์ระหว่างสองประเทศ

     นายกรัฐมนตรีไทยได้ขอบคุณญี่ปุ่นที่ให้ความช่วยเหลือต่อเศรษฐกิจไทยตลอดมาและหวังว่าญี่ปุ่นจะร่วมมือในการพัฒนาทรัพยากรมนุษย์ของไทยด้วย
     นายกรัฐมนตรีญี่ปุ่นได้กล่าวถึงโครงการพัฒนาระเบียงเศรษฐกิจ พิเศษภาคตะวันออก  (EEC) และการพัฒนาทรัพยากรมนุษย์ว่าเป็นหัวใจของการยกระดับอุตสาหกรรมของไทย ในการพัฒนา EEC ญี่ปุ่นปรารถนาจะร่วมมือโดยเฉพาะด้านเมืองอัจฉริยะ (Smart City) โดยประยุกต์ใช้เทคโนโลยีญี่ปุ่น และในการพัฒนาทรัพยากรมนุษย์ โดยจะผลักดันความร่วมมืออย่างเป็นรูปธรรมที่จะทำให้ไทยสามารถพัฒนาผู้เชี่ยวชาญด้านเทคนิคและนำแนวคิดอุดสาหกรรมเชื่อมโยง (Connected Industries) มาใช้
     ทั้งสองฝ่ายได้หารือกันว่าจะร่วมมือกันสู่ความตกลงหุ้นส่วนทางเศรษฐกิจระดับภูมิภาค  (Regional Comprehensive Economic Partnership: RCEP) โดยเร็วที่สุด นายกรัฐมนตรีญี่ปุ่นแสดงความยินดีที่ฝ่ายไทยมีความสนใจที่จะเข้าร่วมความตกลงหุ้นส่วนในทุกด้านและก้าวหน้าภาคพื้นแปซิฟิก (Comprehensive and Progressive Agreement for Trans-Pacific Partnership: CPTPP or TPP-11) และกล่าวว่าฝ่ายญี่ปุ่นจะสนับสนุนและช่วยเหลือโดยให้ข้อมูล