การพบปะหารือระหว่างนายกรัฐมนตรีญี่ปุ่นกับนายกรัฐมนตรีไทย

2022/5/11
การพบปะหารือนายกรัฐมนตรีไทย-ญี่ปุ่น (การหารือกลุ่มเล็ก) (รูปถ่ายโดย กองประชาสัมพันธ์ สำนักนายกรัฐมนตรีญี่ปุ่น)
การพบปะหารือนายกรัฐมนตรีไทย-ญี่ปุ่น (การหารือกลุ่มใหญ่) (รูปถ่ายโดย กองประชาสัมพันธ์ สำนักนายกรัฐมนตรีญี่ปุ่น)
การพบปะหารือนายกรัฐมนตรีไทย-ญี่ปุ่น (รูปถ่ายโดย กองประชาสัมพันธ์ สำนักนายกรัฐมนตรีญี่ปุ่น)
วันที่ 2 พฤษภาคม พ.ศ.2565 เวลาประเทศไทย 16:10 น. (เวลาประเทศญี่ปุ่น 18:10 น.) นายคิชิดะ ฟุมิโอะ นายกรัฐมนตรีแห่งประเทศญี่ปุ่น ซึ่งอยู่ระหว่างเยือนราชอาณาจักรไทยได้เข้าพบปะหารือกับ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีไทยและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม ที่ทำเนียบรัฐบาลโดยมีทั้งการหารือกลุ่มเล็กละการหารือกลุ่มใหญ่ร่วมกับคณะผู้บริหารประเทศ รวมเป็นเวลา 2 ชั่วโมง 15 นาที หลังการหารือ นายกฯทั้งสองได้เข้าร่วมในพิธีลงนามสนธิสัญญา และแถลงข่าวสื่อมวลชนร่วม และมีการร่วมรับประทานอาหารเย็นซึ่ง พล.อ.ประยุทธ์ เป็นเจ้าภาพ ในการพบปะหารือ มีนายโยชิฮิโกะ อิโซซากิ รองเลขาธิการคณะรัฐมนตรีญี่ปุ่น และผู้เกี่ยวข้องเข้าร่วมด้วย
 

1. การหารือในตอนต้น

นายคิชิดะ ฟุมิโอะ นายกรัฐมนตรีญี่ปุ่น ได้แสดงการขอบคุณแก่ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีไทย และประชาชนชาวไทยทุกท่านที่ได้ให้การต้อนรับอย่างอบอุ่น และได้กล่าวว่า ภายใต้สถานการณ์ที่รากฐานความเป็นระเบียบของสังคมโลกกำลังถูกสั่นคลอนจนเรียกได้ว่าเป็นจุดเปลี่ยนทางประวัติศาสตร์เช่นนี้ ประเทศญี่ปุ่นต้องการจะกระชับความร่วมมือกับประเทศไทย เช่น การดำเนินยุทธศาสตร์ "อินโด-แปซิฟิกที่เสรีและเปิดกว้าง" ให้เป็นการจริง และการรับมือกับสถานการณ์ทั้งในระดับภูมิภาคและระดับประเทศ เช่น การรุกรานประเทศยูเครนของประเทศรัสเซีย สถานการณ์ในทะเลจีนใต้ และสถานการณ์ในสาธารณรัฐแห่งสหภาพเมียนมาร์ เป็นต้น ในการนี้ พล.อ.ประยุทธ์ ได้ต้อนรับการมาเยือนของนายกฯญี่ปุ่นและยืนยันจะร่วมกระชับความสัมพันธ์ไทย-ญี่ปุ่นไปพร้อมกับนายกฯคิชิดะ รวมถึงจะให้ความร่วมมือในการรับมือสถานการณ์ทั้งในระดับภูมิภาคและระดับประเทศ เนื่องจากในตอนนี้ทั่วทั้งโลกต่างกำลังอยู่ในภาวะที่ต้องเผชิญกับปัญหามากมาย
 

2. ความสัมพันธ์ทวิภาคี

(1) ความร่วมมือด้านกลาโหม ความมั่นคง และการยุติธรรม

นายกฯทั้งสองเห็นพ้องกันในเรื่องการลงนาม "ความตกลงว่าด้วยการมอบยุทโธปกรณ์และเทคโนโลยีป้องกันประเทศระหว่างรัฐบาลญี่ปุ่นกับรัฐบาลไทย" โดยจะมีการประชุมหารือถึงรายละเอียดที่ชัดเจนของการส่งมอบยุทโธปกรณ์และเทคโนโลยีในภายหลัง นอกจากนี้ยังเห็นพ้องกันในเรื่อง "สนธิสัญญาว่าด้วยความช่วยเหลือซึ่งกันและกันในเรื่องทางอาญาระหว่างประเทศญี่ปุ่นกับประเทศไทย" ว่าควรจัดการประชุมเพื่อหารืออย่างเป็นทางการ โดยเร่งเตรียมการให้เร็วยิ่งขึ้น

(2) การเสริมสร้างความร่วมมือด้านเศรษฐกิจสู่อนาคต

นายกฯคิชิดะ ได้เสนอแนวทางความร่วมมือเพื่อเสริมความแข็งแกร่งทางเศรษฐกิจให้แก่ญี่ปุ่นและไทยในอนาคตโดยกล่าวถึงการส่งเสริมความร่วมมือด้านความปลอดภัยและมั่นคงทางเศรษฐกิจซึ่งรวมถึงการเสริมความแข็งแกร่งให้ห่วงโซ่อุปทาน การลดคาร์บอนให้เป็นศูนย์ ผ่านทางแผนงานอย่าง Asia Energy Transition Initiative (AETI) และยังพูดถึงการให้ความร่วมมือในด้านต่างๆ อย่างเช่น เทคโนโลยี 5G ในด้านดิจิทัล ด้านการดูแลสุขภาพ และด้านการพัฒนาเมืองอัจฉริยะ นอกจากนี้ ยังได้นำเสนอแนวคิด Asia Zero Emissions Community อีกด้วย ในการนี้ พล.อ.ประยุทธ์ ได้เปิดเผยว่าจะมีการเสริมความแข็งแกร่งความร่วมมือแต่ละด้านที่กล่าวมา โดยคาดหวังว่าจะมีการลงทุนจากบริษัทญี่ปุ่นมากยิ่งขึ้น นายกฯทั้งสองยังเห็นพ้องกันว่า ควรเพิ่มความร่วมมือในด้านต่างๆเหล่านี้ลงใน "แผนยุทธศาสตร์ร่วมด้านเศรษฐกิจในการพัฒนาความเป็นหุ้นส่วนระหว่างไทยกับญี่ปุ่นในระยะ 5 ปี" ซึ่งอยู่ระหว่างการร่างแผนงาน

(3) การรับมือกับสถานการณ์โควิด-19

นายกฯคิชิดะ ได้กล่าวว่ามีการตกลงที่จะให้ความช่วยเหลือด้านการเงินเพื่อรับมือกับปัญหาโควิด-19 โดยจะให้เป็นเงินกู้ดอกเบี้ยต่ำจำนวน 50,000 ล้านเยน และยังได้ตกลงที่จะให้ความช่วยเหลือด้านอุปกรณ์เพื่อเสริมประสิทธิภาพให้ด่านตรวจโรคผู้เข้าออกประเทศ เพื่อให้สามารถก้าวข้ามผ่านวิกฤติโควิด-19ไปได้ และคาดหวังให้ทั้งสองประเทศกลับมามีการเดินทางไปมาหาสู่กันอย่างคับคั่งเช่นเดิมได้อีกครั้ง ในการนี้ พล.อ.ประยุทธ์ ได้กล่าวขอบคุณที่ญี่ปุ่นได้ให้ความช่วยเหลือในการรับมือกับโรคโควิด-19 ซึ่งรวมถึงการบริจาควัคซีนด้วย และยังได้กล่าวแสดงความคาดหวังว่าจะมีนักท่องเที่ยวจากญี่ปุ่นเดินทางมาไทย และมีการเดินทางไปมาหาสู่กันอย่างคับคั่งอีกครั้ง รวมถึงมีการขับเคลื่อนทางเศรษฐกิจอีกครั้งด้วยเช่นกัน
 

3. สถานการณ์ในระดับภูมิภาคและระดับโลก

(1) สถานการณ์ในประเทศยูเครน

นายกฯคิชิดะ ได้แสดงความเห็นว่าการรุกรานประเทศยูเครนของประเทศรัสเซียนั้นเป็นการทำผิดกฎหมายระหว่างประเทศอย่างชัดเจน ซึ่งขัดต่อทั้งกฎหมายของสหประชาชาติและของอาเซียน และการใช้กำลังแต่เพียงฝ่ายเดียวเพื่อเปลี่ยนแปลงสถานการณ์นั้นไม่สามารถยอมรับได้โดยเด็ดขาด ในการนี้ พล.อ.ประยุทธ์ ได้อธิบายถึงจุดยืนของประเทศไทยต่อสถานการณ์ในประเทศยูเครนโดยนายกฯทั้งสองมีความเห็นตรงกันว่าการเข้ารุกรานอำนาจอธิปไตยและบูรณภาพแห่งดินแดนรวมถึงการใช้กำลังแต่เพียงฝ่ายเดียวเพื่อเปลี่ยนแปลงสถานการณ์นั้นไม่อาจเป็นที่ยอมรับได้ไม่ว่าจะเป็นภูมิภาคใดก็ตาม และยังเห็นพ้องกันในเรื่องการต่อต้านการใช้อาวุธที่มีอานุภาพทำลายล้างสูงเพื่อข่มขู่อีกด้วย ทั้งนี้ นายกฯคิชิดะ ชื่นชมประเทศไทยเป็นอย่างยิ่งที่ตัดสินใจจะให้การสนับสนุนทางด้านมนุษยธรรม โดย พล.อ.ประยุทธ์ กล่าวว่าจะให้การช่วยเหลือทางด้านมนุษยธรรมต่อไปมากยิ่งขึ้น ซึ่งทั้งสองประเทศต่างเห็นพ้องที่จะร่วมมือกันในด้านนี้ด้วย

(2) สถานการณ์ในภูมิภาคอื่นๆ

นายกฯคิชิดะ ได้แสดงความเห็นต่อต้านอย่างแข็งกร้าวต่อการเข้าเปลี่ยนแปลงสถานการณ์แต่เพียงฝ่ายเดียวและการกดดันทางเศรษฐกิจในแถบทะเลจีนตะวันออกและทะเลจีนใต้ นายกฯทั้งสองยังได้แลกเปลี่ยนความคิดเห็นเกี่ยวกับสถานการณ์ในเกาหลีเหนือ และยืนยันความเห็นที่จะร่วมมือกันในการรับมือกับปัญหาขีปนาวุธนิวเคลียร์และการลักพาตัวในเกาหลีเหนือ นอกจากนี้ นายกฯทั้งสองยังได้หารือกันเกี่ยวกับสถานการณ์ในเมียนมาร์ โดยทางนายกฯคิชิดะ ได้กล่าวว่าการเดินทางไปเยือนเมียนมาร์ของผู้แทนพิเศษของประธานอาเซียนเมื่อเดือนมีนาคมนั้น ถือเป็นก้าวแรกในการเข้าแก้ไขสถานการณ์ดังกล่าว ญี่ปุ่นจะคอยสนับสนุนอาเซียนต่อไป และคาดหวังให้ประเทศไทยมีบทบาทในการเข้าแก้ไขสถานการณ์ ซึ่งบทบาทของไทยที่เป็นประเทศเพื่อนบ้านของเมียนมาร์นั้นนับเป็นตัวแปรสำคัญอย่างยิ่ง ในการนี้ พล.อ.ประยุทธ์ ได้อธิบายถึงจุดยืนของประเทศไทยต่อสถานการณ์ในเมียนมาร์ โดยกล่าวถึงความสำคัญของการให้ความช่วยเหลือด้านมนุษยธรรม นายกฯทั้งสองต่างเห็นพ้องกันที่จะร่วมมืออย่างใกล้ชิดต่อไปเพื่อแก้ไขสถานการณ์ที่กำลังดำเนินอยู่

(3) กรอบความร่วมมือลุ่มแม่น้ำโขง อาเซียน และพื้นที่นานาชาติ

นายกฯคิชิดะ ได้กล่าวถึงการให้ความช่วยเหลือสมทบทุนในกองทุนเพื่อการพัฒนาของยุทธศาสตร์ความร่วมมือทางเศรษฐกิจ อิรวดี-เจ้าพระยา-แม่โขง (ACMECS) เป็นมูลค่า 150 ล้านเยนภายใต้กรอบความร่วมมือลุ่มแม่น้ำโขง-ญี่ปุ่น ซึ่ง  พล.อ.ประยุทธ์ ได้กล่าวขอบคุณในเรื่องนี้ นายกฯทั้งสองต่างเห็นพ้องที่จะร่วมมือกันอย่างใกล้ชิดต่อไปเพื่อพัฒนาภูมิภาคลุ่มแม่น้ำโขง นายกฯคิชิดะ ยังได้กล่าวเกี่ยวกับความร่วมมืออาเซียนว่า ในปีหน้าจะเป็นปีที่ครบรอบ 50 ปี ความสัมพันธ์ระหว่างอาเซียนกับญี่ปุ่น จึงอยากใช้โอกาสนี้ในการนำเสนอภาพรวมของกรอบความสัมพันธ์อาเซียน-ญี่ปุ่น ในอนาคตในการประชุมผู้นำพิเศษซึ่งจะจัดขึ้นที่ประเทศญี่ปุ่น ในการนี้ พล.อ.ประยุทธ์ ได้กล่าวว่าจะให้ความร่วมมือต่อไปและสนับสนุนความเป็นผู้นำของญี่ปุ่นในฐานะที่ไทยเป็นประเทศที่ประเทศผู้ประสานงานความสัมพันธ์อาเซียน-ญี่ปุ่น นอกจากนี้นายกฯคิชิดะ ยังกล่าวอีกว่า ญี่ปุ่นจะสนับสนุนโครงการสำคัญของไทยอย่างโมเดลเศรษฐกิจ BCG อย่างเต็มรูปแบบเพื่อเตรียมพร้อมสู่การที่ไทยจะได้เป็นเจ้าภาพการจัดประชุม APEC ในปีนี้ โดยในการนี้ พล.อ.ประยุทธ์ ได้กล่าวแสดงความขอบคุณ และเห็นพ้องที่ทั้งสองประเทศจะร่วมมือกันอย่างแนบแน่นเพื่อมุ่งสู่ความสำเร็จในการจัดการประชุม APEC รวมถึงยังเห็นพ้องที่จะร่วมมือกันในด้านการปฏิรูปคณะมนตรีความมั่นคงแห่งสหประชาชาติ การลดขนาดกองทัพ และการไม่แพร่ขยายอาวุธนิวเคลียร์
 

(อ้างอิง) ความตกลงที่ได้ลงนาม (MOU) 3 ฉบับ

1. ความตกลงว่าด้วยการมอบยุทโธปกรณ์และเทคโนโลยีป้องกันประเทศระหว่างรัฐบาลประเทศญี่ปุ่นกับรัฐบาลแห่งราชอาณาจักรไทย ( เอกสารภาษาอังกฤษ , เอกสารภาษาญี่ปุ่น)

(1) เนื้อหา

เป็นความตกลงเพื่อวางกรอบทางกฎหมายในการมอบยุทโธปกรณ์และเทคโนโลยีป้องกันประเทศที่จำเป็นต่อกิจการที่มีเป้าหมายในการสร้างความมั่นคงและสันติสุขให้แก่นานาชาติซึ่งรัฐบาลไทยและรัฐบาลญี่ปุ่นเข้าร่วมรวมถึงกิจการที่เกี่ยวข้องกับการร่วมกันทำวิจัย ร่วมกันพัฒนา และร่วมกันผลิต หรือ เสริมสร้างความแข็งแกร่งด้านความร่วมมือการให้ความคุ้มครองประเทศภาคีและความร่วมมือกลาโหม

(2) ผู้ลงนาม

ฝ่ายญี่ปุ่น: นายนะชิดะ คะสุยะ เอกอัครราชทูตวิสามัญผู้มีอำนาจเต็มแห่งญี่ปุ่น ประจำราชอาณาจักรไทย
ฝ่ายไทย:  พลเรือโท ศิริชัย กาญจนบดี เจ้ากรมส่งกำลังบำรุงทหาร
 

2. ความตกลงการให้ความช่วยเหลือแบบเงินกู้ภายใต้โครงการสนับสนุนเร่งด่วนสำหรับการรับมือกับสถานการณ์โควิด-19

(1) เนื้อหา

เป็นความตกลงเพื่อให้ความช่วยเหลือด้านการเงินแก่ประเทศไทยซึ่งอยู่ในสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 มีเป้าหมายเพื่อเสริมความแข็งแกร่งของระบบทางการแพทย์ซึ่งครอบคลุมถึงยุคหลังโควิด-19 รวมถึงส่งเสริมการช่วยเหลือกลุ่มชนชั้นล่างและกลุ่มเปราะบาง กลุ่มกิจการขนาดเล็กและขนาดกลางที่ได้รับผลกระทบจากโควิด-19 โดยคาดหวังว่าจะช่วยผลักดันการพัฒนาและสร้างความมั่นคงทางสังคมและเศรษฐกิจในประเทศไทย
(เงินกู้ดอกเบี้ยต่ำจำนวน 50,000 ล้านเยน)

(2) เงื่อนไขการส่งมอบมีดังต่อไปนี้

   (ก) อัตราดอกเบี้ย: 0.01% ต่อปี
   (ข) ระยะเวลาชำระคืน: 15ปี (รวมระยะเวลาผ่อนผันการชำระเงินต้น 4ปี)
   (ค) ลักษณะการกู้: ไม่ผูกมัด

(3) ผู้ลงนาม

ฝ่ายญี่ปุ่น: นายนะชิดะ คะสุยะ เอกอัครราชทูตวิสามัญผู้มีอำนาจเต็มแห่งญี่ปุ่น ประจำราชอาณาจักรไทย
ฝ่ายไทย: นายอาคม เติมพิทยาไพสิฐ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง
 

3. ความตกลงแผนการโครงการสนับสนุนเร่งด่วนสำหรับการรับมือกับสถานการณ์โควิด-19

(1) เนื้อหา

เป็นข้อตกลงให้ความช่วยเหลือประเทศไทยซึ่งอยู่ในสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 ด้านการเตรียมอุปกรณ์เพื่อตรวจและรักษาโรคติดต่อสำหรับด่านตรวจตราและกักกันโรคในท่าอากาศยานสุวรรณภูมิ รวมถึงด่านตรวจบริเวณชายแดน4แห่งและโรงพยาบาลที่อยู่ใกล้ชายแดนประเทศ มีเป้าหมายเพื่อลดอัตราเสี่ยงในการติดโรคโควิด-19 พร้อมทั้งขับเคลื่อนเศรษฐกิจให้เดินหน้าอีกครั้ง โดยคาดหวังว่าจะช่วยผลักดันการพัฒนาและสร้างความมั่นคงทางสังคมและเศรษฐกิจในประเทศไทย
(จำนวนเงินช่วยเหลือ: 500 ล้านเยน)

(2) ผู้ลงนาม

ฝ่ายญี่ปุ่น: นายนะชิดะ คะสุยะ เอกอัครราชทูตวิสามัญผู้มีอำนาจเต็มแห่งญี่ปุ่น ประจำราชอาณาจักรไทย
ฝ่ายไทย: นางอุรีรัชต์ เจริญโต อธิบดีกรมความร่วมมือระหว่างประเทศ