การพบปะหารือระหว่างนายกรัฐมนตรีญี่ปุ่นกับนายกรัฐมนตรีไทย

2022/5/26
2219 การพบปะหารือนายกรัฐมนตรีไทย-ญี่ปุ่น (รูปถ่ายโดย กองประชาสัมพันธ์ สำนักนายกรัฐมนตรีญี่ปุ่น)
2219 การพบปะหารือนายกรัฐมนตรีไทย-ญี่ปุ่น (รูปถ่ายโดย กองประชาสัมพันธ์ สำนักนายกรัฐมนตรีญี่ปุ่น)
เมื่อวันที่ 26 พฤษภาคม พ.ศ.2565 ตั้งแต่เวลา 18:00 น. (ตามเวลาท้องถิ่นของประเทศญี่ปุ่น) นายคิชิดะ ฟุมิโอะ นายกรัฐมนตรีแห่งประเทศญี่ปุ่น ได้หารือทวิภาคีกับ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีไทยและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม เป็นเวลาประมาณ 40 นาที โดยในการประชุมหารือมีนายโยชิฮิโกะ อิโซซากิ รองเลขาธิการคณะรัฐมนตรีญี่ปุ่น และผู้เกี่ยวข้องเข้าร่วมด้วย ซึ่งมีเนื้อหาดังต่อไปนี้
 
1. ในตอนต้นของการหารือ นายคิชิดะ นายกรัฐมนตรีญี่ปุ่น ได้กล่าวขอบคุณต่อ พล.อ.ประยุทธ์ นายกรัฐมนตรีไทย ที่ได้ให้การต้อนรับเมื่อครั้งเดินทางเยือนประเทศไทย พร้อมทั้งรู้สึกยินดีเป็นอย่างยิ่งที่ได้ต้อนรับนายกรัฐมนตรีไทยในการเยือนประเทศญี่ปุ่นครั้งนี้ และยังมีโอกาสได้หารือแลกเปลี่ยนความคิดเห็นกันอีกครั้ง โดยมุ่งหวังที่จะได้หารือร่วมกันอย่างลึกซึ้งต่อเนื่องจากการประชุมหารือทวิภาคีเมื่อครั้งก่อน เพื่อนำไปสู่การพัฒนาความสัมพันธ์ของทั้งสองประเทศ อย่างเช่น การหารือในเรื่องการดำเนินยุทธศาสตร์ "อินโด-แปซิฟิกที่เสรีและเปิดกว้าง" ให้เป็นจริง เป็นต้น

ในการนี้ พล.อ.ประยุทธ์ นายกรัฐมนตรีไทย ได้กล่าวแสดงความรู้สึกยินดีที่ได้พบนายกรัฐมนตรีญี่ปุ่นอีกครั้ง และมุ่งหวังที่จะร่วมมือกันอย่างใกล้ชิดในปีนี้ ซึ่งเป็นปีครบรอบ 135 ปีการสถาปนาความสัมพันธ์ทางการทูตระหว่างญี่ปุ่น-ไทย เพื่อส่งเสริมสายสัมพันธ์กับประเทศญี่ปุ่นซึ่งเป็นหุ้นส่วนทางยุทธศาสตร์ให้แน่นแฟ้นยิ่งขึ้น
 
2. ในด้านความสัมพันธ์ทวิภาคี นายกรัฐมนตรีญี่ปุ่นได้กล่าวถึงความคืบหน้าต่อเนื่องจากการประชุมหารือทวิภาคีเมื่อครั้งก่อน ได้แก่ กระชับความสัมพันธ์หุ้นส่วนทางยุทธศาสตร์ของทั้งสองประเทศ การผ่อนปรนมาตรการควบคุมการเดินทางเข้าออกประเทศ การลงทุนในอุตสาหกรรมแนวหน้าอย่างอุตสาหกรรมยานยนต์ไฟฟ้า และนำเสนอแนวคิด Asia Zero Emissions Community นอกจากนี้ นายกรัฐมนตรีญี่ปุ่นยังเปิดเผยด้วยว่ากำลังอยู่ระหว่างหารือเพื่อร่างสนธิสัญญาประกันสังคม และพัฒนาโครงการเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (EEC) ของประเทศไทย

ในการนี้ นายกรัฐมนตรีไทยได้กล่าวชื่นชมที่ประเทศญี่ปุ่นตัดสินใจผ่อนปรนมาตรการควบคุมการเดินทางเข้าออกประเทศและคาดหวังให้ประเทศญี่ปุ่นเข้ามาลงทุนในประเทศไทยมากขึ้นทั้งในส่วนของEECและโครงการอื่นๆ นอกจากนี้ ยังกล่าวว่าจะให้ความร่วมมือในแนวคิด Asia Zero Emissions Community และคาดหวังว่าจะสามารถทำสนธิสัญญาประกันสังคมให้สำเร็จได้ในเร็ววัน
 
3. ด้านสถานการณ์ในภูมิภาคและสถานการณ์โลก นายกรัฐมนตรีญี่ปุ่นได้เน้นย้ำอีกครั้งถึงสถานการณ์ในประเทศยูเครนว่าการเข้ารุกรานอำนาจอธิปไตยและบูรณภาพแห่งดินแดนรวมถึงการใช้กำลังเพื่อเปลี่ยนแปลงสถานการณ์แต่เพียงฝ่ายเดียวนั้นไม่อาจเป็นที่ยอมรับได้ ซึ่งทั้งประเทศไทยและประเทศญี่ปุ่นต่างเห็นพ้องกันตามที่ได้หารือร่วมกันเมื่อครั้งก่อน พร้อมทั้งกล่าวว่าสังคมโลกจำเป็นต้องร่วมกันยืนกรานคัดค้านต่อประเทศรัสเซียด้วย นอกจากนี้ นายกรัฐมนตรีญี่ปุ่นยังได้กล่าวถึงความสำคัญของการให้ความช่วยเหลืออย่างเป็นรูปธรรมแก่นานาประเทศที่ได้รับผลกระทบในระดับโลกจากการรุกรานดังกล่าว อย่างเช่นการขาดแคลนอาหาร เป็นต้น
ในการนี้ นายกรัฐมนตรีไทยกล่าวว่าประเทศไทยยังคอยจับตามองสถานการณ์ในประเทศยูเครนอยู่ตลอด และด้วยหลักความคิดพื้นฐานแล้วประเทศไทยเห็นพ้องกันกับประเทศญี่ปุ่น และประเทศไทยให้ความสำคัญกับความพยายามทางการทูตเพื่อยุติสถานการณ์ให้ได้ในเร็ววันด้วยเช่นกัน
 
4. นอกเหนือจากนี้ ยังมีการหารือแลกเปลี่ยนความคิดเห็นในเรื่องการประชุมเอเปค ซึ่งประเทศไทยเป็นเจ้าภาพในปีนี้ รวมถึงเรื่องสถานการณ์ในสาธารณรัฐแห่งสหภาพเมียนมาร์ด้วย โดยนายกรัฐมนตรีทั้งสองเห็นพ้องที่จะให้ความร่วมมือกันอย่างแน่นแฟ้น และยังตกลงที่จะร่วมมือกันต่อไปในการรับมือกับสถานการณ์ต่างๆที่เกี่ยวข้องกับประเทศเกาหลีเหนือ เช่น ปัญหาการลักพาตัว การทดสอบอาวุธนิวเคลียร์ และการยิงขีปนาวุธของเกาหลีเหนือ ซึ่งรวมถึงการทดสอบยิงขีปนาวุธเมื่อวันที่ 25 พ.ค. ที่ผ่านมาด้วย
นอกจากนี้ นายกรัฐมนตรีญี่ปุ่นยังได้ยืนยันความร่วมมืออย่างแน่นแฟ้นกับประเทศไทย ซึ่งเป็นประเทศผู้ประสานงานความสัมพันธ์อาเซียน-ญี่ปุ่น เพื่อเตรียมความพร้อมสู่การประชุมสุดยอดผู้นำซึ่งเกี่ยวกับอาเซียนในปีนี้ และการฉลองครบรอบ 50 ปี ความสัมพันธ์ระหว่างอาเซียนกับญี่ปุ่นในปีหน้า

สุดท้ายนี้ นายกรัฐมนตรีญี่ปุ่นได้กล่าวแสดงความยินดีต่อประเทศไทยที่ได้เป็นประเทศที่ตั้งของสำนักงานเลขาธิการศูนย์อาเซียน ด้านการรับมือกับภาวะฉุกเฉินทางสาธารณสุขและโรคอุบัติใหม่ และกล่าวว่าจะสนับสนุนประเทศไทยต่อไปในทุกๆด้าน