การแถลงข่าวร่วมระหว่างนายกรัฐมนตรีญี่ปุ่นกับนายกรัฐมนตรีไทย

2022/5/11
ภาพการแถลงข่าวร่วม (รูปถ่ายโดย กองประชาสัมพันธ์ สำนักนายกรัฐมนตรีญี่ปุ่น)
ภาพการแถลงข่าวร่วม (รูปถ่ายโดย กองประชาสัมพันธ์ สำนักนายกรัฐมนตรีญี่ปุ่น)
ภาพการแถลงข่าวร่วม (รูปถ่ายโดย กองประชาสัมพันธ์ สำนักนายกรัฐมนตรีญี่ปุ่น)
ขอบคุณ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีไทย และประชาชนชาวไทยทุกท่าน ที่ได้ให้การต้อนรับอย่างอบอุ่น ข้าพเจ้ารู้สึกยินดีเป็นอย่างยิ่งที่สามารถเดินทางเยือนประเทศไทยได้ในปีนี้ซึ่งเป็นปีครบรอบ 135 ปีการสถาปนาความสัมพันธ์ทางการทูตระหว่างญี่ปุ่น-ไทย
 
ในเดือนพฤษภาคม ปีพ.ศ.2559 ข้าพเจ้าได้มีโอกาสเดินทางเยือนประเทศไทยในฐานะรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศ และได้พูดถึงความสำคัญของการดึงศักยภาพที่ซ่อนเร้นอยู่ของภูมิภาคอาเซียนออกมา โดยเสริมความเป็นปึกแผ่น พร้อมกับใช้ความหลากหลายในตัวเองของอาเซียนให้เกิดประโยชน์
 
จนในตอนนี้ ความคิดของข้าพเจ้าก็ยังคงไม่เปลี่ยนแปลงอาเซียน ซึ่งรวมเป็นหนึ่งเดียวกันคือสิ่งสำคัญที่ขาดไม่ได้สำหรับทั้งภูมิภาคและโลกใบนี้ ในสถานการณ์ที่ความเป็นระเบียบในสังคมโลกกำลังสั่นคลอนอย่างหนักเช่นนี้ ข้าพเจ้าอยากเน้นย้ำความสำคัญในเรื่องนั้นอีกครั้งหนึ่งที่นี่ ที่ประเทศไทยซึ่งเป็นจุดเริ่มต้นของอาเซียน ข้าพเจ้าขอกล่าวแสดงความนับถืออีกครั้ง แก่ความเป็นผู้นำของ พล.อ.ประยุทธ์ และประเทศไทย ที่ได้ดำเนินโครงการภายใต้มุมมองอาเซียนต่ออินโด-แปซิฟิก (AOIP) ในฐานะประเทศประธานอาเซียน จนสำเร็จได้
 
ในวันนี้ข้าพเจ้าได้มีโอกาสหารือกับพล.อ.ประยุทธ์ อย่างตรงไปตรงมาเรื่องสถานการณ์ในระดับภูมิภาคและระดับโลก รวมถึงเรื่องอนาคตของความสัมพันธ์ญี่ปุ่น-ไทยด้วย
 
ในประเด็นแรกสุด คือเรื่องของความสัมพันธ์ทวิภาคี ประเทศไทยมีชาวญี่ปุ่นพำนักอาศัยอยู่มากกว่า 8หมื่นคน และมีบริษัทญี่ปุ่นอยู่ราว 6,000 บริษัท สำหรับญี่ปุ่นแล้วไทยจึงเป็นฐานที่มั่นที่มีขนาดใหญ่ที่สุดในภูมิภาคนี้ และด้วยความสัมพันธ์อันแน่นแฟ้นนี้ จึงขอเสนอการสร้างความร่วมมือให้เป็นรูปธรรมใน 3 ประเด็นด้วยกัน
 
ประเด็นที่ 1 การจัดระเบียบให้รากฐานความร่วมมือด้านกลาโหม ความมั่นคง และการยุติธรรม ซึ่งในวันนี้ได้มีการลงนามความตกลงว่าด้วยการมอบยุทโธปกรณ์และเทคโนโลยีป้องกันประเทศ ถือเป็นก้าวแรกที่ยิ่งใหญ่ของการขยายกรอบความร่วมมือด้านกลาโหมและความมั่นคง โดยจะมีการหารือกันในรายละเอียดของการส่งมอบอย่างเป็นรูปธรรมต่อไป นอกจากนี้ เรายังเห็นพ้องกันในเรื่องสนธิสัญญาว่าด้วยความช่วยเหลือซึ่งกันและกันในเรื่องทางอาญาระหว่างประเทศญี่ปุ่นกับประเทศไทยว่าควรเร่งเตรียมความพร้อมให้เร็วยิ่งขึ้น
 
ประเด็นที่ 2 คือการเสริมสร้างความร่วมมือด้านเศรษฐกิจ ในการเสริมความแข็งแกร่งให้ห่วงโซ่อุปทานของประเทศไทย ประเทศญี่ปุ่นจะให้ความร่วมมือในการเพิ่มการลงทุนเพื่อเพิ่มฐานการผลิตและผลักดันโครงการผู้ประกอบการระดับมาตรฐานเออีโอให้ได้รับการยอมรับโดยเร็ว ซึ่งจะช่วยให้การค้าขายแลกเปลี่ยนกันเป็นไปได้อย่างปลอดภัยและราบรื่นมากยิ่งขึ้น นอกจากนี้จะดำเนินโครงการความร่วมมือโดยบริษัทร่วมญี่ปุ่น-ไทย ในการทำเทคโนโลยีการโทรคมนาคมสื่อสาร 5G ให้เปิดกว้างยิ่งขึ้น และใช้เทคโนโยโลยีดิจิทัลให้เป็นประโยชน์ในการแก้ไขปัญหาต่างๆ
 
ยิ่งไปกว่านั้น ประเทศญี่ปุ่นจะให้การสนับสนุนด้านการเปลี่ยนถ่ายพลังงานซึ่งนำมาใช้ได้จริงในประเทศไทยผ่านความช่วยเหลือในการวางแผนงานบนฐานของ Asia Energy Transition Initiative (AETI) เพื่อนำไปสู่การคุ้มครองความปลอดภัยด้านพลังงาน ควบคู่กับการลดการปล่อยคาร์บอนให้ศูนย์ พร้อมกันนี้ข้าพเจ้ายังได้นำเสนอแนวคิด Asia Zero Emissions Community ซึ่งทั้งสองฝ่ายเห็นพ้องที่จะร่วมมือกันในด้านความปลอดภัยและมั่นคงทางเศรษฐกิจด้วย
 
ประเด็นที่ 3 คือเรื่องของการรับมือกับโรคโควิด-19 ซึ่งประเทศญี่ปุ่นได้ให้ความช่วยเหลือด้านการเงินเป็นเงินกู้ดอกเบี้ยต่ำจำนวน 50,000 ล้านเยน และได้ตกลงที่จะให้ความช่วยเหลือด้านอุปกรณ์เพื่อเสริมประสิทธิภาพให้ด่านตรวจโรคผู้เข้าออกประเทศด้วย ข้าพเจ้าคาดหวังว่าเราจะสามารถก้าวข้ามโควิด-19ไปได้ และการเดินทางไปมาหาสู่กันระหว่างญี่ปุ่นและไทยจะกลับมาคับคั่งเช่นเดิมได้อีกครั้งพร้อมกับการฟื้นตัวของเศรษฐกิจ
 
ในลำดับต่อมา เป็นเรื่องของสถานการณ์ในระดับภูมิภาคและระดับโลก ข้าพเจ้ารู้สึกชื่นชมเป็นอย่างยิ่งที่ประเทศไทยสนับสนุนข้อหารือสถานการณ์ในประเทศยูเครน ข้าพเจ้าและพล.อ.ประยุทธ์ เห็นพ้องกันว่าการเข้ารุกรานอำนาจอธิปไตยและบูรณภาพแห่งดินแดน ด้วยการใช้กำลังแต่เพียงฝ่ายเดียวเพื่อเปลี่ยนแปลงสถานการณ์นั้นไม่อาจเป็นที่ยอมรับได้ไม่ว่าจะเป็นภูมิภาคใดก็ตาม รวมถึงเห็นพ้องเรื่องการต่อต้านการข่มขู่โดยใช้อาวุธที่มีอานุภาพทำลายล้างสูงด้วย นอกจากนี้ ขอชื่นชมรัฐบาลไทยเป็นอย่างยิ่งที่ได้ให้การช่วยเหลือทางมนุษยธรรมแก่ประเทศยูเครนและประเทศใกล้เคียง และมุ่งหวังจะให้ความร่วมมือกับประเทศไทยในประเด็นนี้ต่อไป
 
พร้อมกันนี้ ญี่ปุ่นกับไทยยังเห็นพ้องที่จะร่วมมือกันในยุทธศาสตร์อินโด-แปซิฟิกที่เสรีและเปิดกว้างรวมถึงเห็นพ้องที่จะร่วมมือกันอย่างใกล้ชิดในการรับมือกับปัญหาต่างๆ อย่างปัญหาทะเลจีนใต้และปัญหาขีปนาวุธนิวเคลียร์และการลักพาตัวในเกาหลีเหนือ เป็นต้น และยังเห็นพ้องที่จะร่วมมือกันในด้านสถานการณ์ในสาธารณรัฐแห่งสหภาพเมียนมาร์ด้วยเช่นกัน
 
เนื่องจากในปีนี้จะมีการจัดประชุม APEC ขึ้นที่ประเทศไทย จึงเห็นพ้องกันที่จะร่วมมืออย่างใกล้ชิดกับไทยซึ่งเป็นประธานจัดงานและได้ทำความเข้าใจร่วมกันในเรื่องความสำคัญของการปฏิรูปคณะมนตรีความมั่นคงแห่งสหประชาชาติ รวมทั้งยังเห็นพ้องกันในเรื่องการลดขนาดกองทัพและไม่แพร่ขยายอาวุธนิวเคลียร์ด้วย
 
สุดท้ายนี้ ปีหน้าจะเป็นปีที่ครบรอบ 50 ปี ความสัมพันธ์ระหว่าง อาเซียน กับญี่ปุ่น ข้าพเจ้าจึงมีความตั้งใจที่จะต้อนรับพล.อ.ประยุทธ์ ในการประชุมผู้นำวาระพิเศษญี่ปุ่น-อาเซียน เพื่อพัฒนาความสัมพันธ์ญี่ปุ่น-อาเซียน และความสัมพันธ์ญี่ปุ่น-ไทยในทุกๆด้าน