เอกอัครราชทูตวิสามัญผู้มีอำนาจเต็มแห่งญี่ปุ่น ประจำราชอาณาจักรไทย

2024/8/6
นายโอตากะ มาซาโตะ เอกอัครราชทูตวิสามัญผู้มีอำนาจเต็มแห่งญี่ปุ่น
     ในโอกาสนี้ ข้าพเจ้า โอตากะ มาซาโตะ ได้รับการแต่งตั้งให้ดำรงตำแหน่งเอกอัครราชทูตญี่ปุ่นประจำประเทศไทย ในอดีตข้าพเจ้าเคยปฏิบัติงานอยู่ที่ประเทศไทยระหว่างปี พ.ศ. 2552 - 2555 ครั้งนี้จึงถือเป็นวาระที่ 2 ของข้าพเจ้าที่มาประจำการ ข้าพเจ้ารู้สึกยินดีเป็นอย่างยิ่งที่ได้รับโอกาสในการใช้ความพยายามอย่างเต็มความสามารถเพื่อพัฒนาความสัมพันธ์แห่งมิตรภาพอันดีระหว่างสองประเทศ ซึ่งก่อร่างสร้างกันมาโดยผู้ที่ดำรงตำแหน่งก่อนหน้าข้าพเจ้าหลายต่อหลายคน

​     เมื่อวันที่ 26 กันยายน พ.ศ. 2430 ประเทศญี่ปุ่นและประเทศไทยได้ลงนามใน “ปฏิญญาทางพระราชไมตรีและการพาณิชย์” ซึ่งเป็นการสถาปนาความสัมพันธ์ทางการทูตอย่างเป็นทางการ และได้เฉลิมฉลองครบรอบ 135 ปีความสัมพันธ์ทางการทูตไปเมื่อปี พ.ศ. 2565 โดยตลอดประวัติศาสตร์ความสัมพันธ์อันยาวนานนี้ รัฐบาลญี่ปุ่นถือเป็นประเทศแรกที่ได้มอบความร่วมมือเพื่อการพัฒนา (ODA) แก่ประเทศไทย พร้อมกับการเข้ามาลงทุนในประเทศไทยของบริษัทเอกชนญี่ปุ่นซึ่งช่วยสนับสนุนการพัฒนาทางเศรษฐกิจ ผลจากกิจกรรมของทั้งภาครัฐและเอกชนญี่ปุ่นดังเช่นที่กล่าวมา ปัจจุบันในประเทศไทยจึงมีบริษัทเอกชนญี่ปุ่นประกอบธุรกิจอยู่ประมาณ 6,000 แห่ง โดยเฉพาะอย่างยิ่งเมื่อรัฐบาลปัจจุบันภายใต้การนำของนายเศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรีไทย ซึ่งให้ความสำคัญเป็นพิเศษกับนโยบายด้านเศรษฐกิจ จึงยิ่งเป็นสภาพแวดล้อมที่เหมาะสมในการส่งเสริมการดำเนินธุรกิจของบริษัทญี่ปุ่นให้เดินหน้าไปอย่างราบรื่น


​     แน่นอนว่าความสัมพันธ์อันดีระหว่างสองประเทศนั้นไม่ได้มีเฉพาะเพียงความสัมพันธ์ด้านเศรษฐกิจเท่านั้น แต่ยังปรากฏให้เห็นในอีกหลายด้าน โดยในปี พ.ศ. 2566 จำนวนนักท่องเที่ยวที่เดินทางจากประเทศญี่ปุ่นมาเยือนประเทศไทย ยังไม่กลับมาอยู่ในระดับเดียวกับช่วงก่อนเกิดวิกฤตโควิด 19 เพราะได้รับผลกระทบจากภาวะเงินเยนอ่อนค่า แต่ในทางกลับกัน มีจำนวนนักท่องเที่ยวชาวไทยเดินทางไปเยือนประเทศญี่ปุ่นมากถึงราว 1 ล้านคน ซึ่งถือว่ามากเป็นอันดับ 6 ในบรรดาประเทศทั้งหมด และมากเป็นอันดับ 1 ในกลุ่มประเทศอาเซียน

​     นอกจากนี้ วัฒนธรรมญี่ปุ่นยังได้รับความสนใจอย่างมากในประเทศไทย เช่น การจัดดอกไม้แบบญี่ปุ่นอิเคบานะ, ศิลปะการชงชา, ศิลปะการป้องกันตัว, อาหารญี่ปุ่น, สุราญี่ปุ่น, ศิลปะการแสดงแบบดั้งเดิม และการ์ตูนแอนิเมชั่น เป็นต้น ข้าพเจ้ายังทราบมาว่าการเรียนภาษาญี่ปุ่นก็เป็นที่นิยมอย่างมากเช่นเดียวกัน ความสนใจในประเทศญี่ปุ่นที่เพิ่มมากขึ้นเช่นนี้จะกลายเป็นความต้องการเดินทางไปเยือนประเทศญี่ปุ่นในสักวันหนึ่ง ซึ่งถือเป็นเรื่องน่ายินดีอย่างยิ่งถ้าจะมีคนไทยจำนวนมากเดินทางมาเยือนประเทศญี่ปุ่น

​     ปัจจุบัน มีชาวญี่ปุ่นพำนักอาศัยอยู่ในประเทศไทยประมาณ 7 หมื่นคน การคุ้มครองความปลอดภัยและดำเนินกิจกรรมที่เกี่ยวข้องในการให้ความช่วยเหลือชาวญี่ปุ่นที่พำนักในประเทศไทย รวมถึงชาวญี่ปุ่นทุกคน ถือเป็นหน้าที่สำคัญอย่างยิ่งของสถานเอกอัครราชทูตญี่ปุ่นของพวกเรา พวกเราจะทุ่มเทอย่างเต็มที่เพื่อเป็นกำลังให้กับทุกๆท่าน ดังนั้นโปรดอย่าลังเลใจที่จะแจ้งให้สถานเอกอัครราชทูตญี่ปุ่นทราบความคิดเห็นหรือความประสงค์ของท่าน

​     ในโอกาสครบรอบ 50 ปี ความสัมพันธ์ญี่ปุ่น-อาเซียน เมื่อเดือนธันวาคม ปีที่ผ่านมา ได้มีการจัดการประชุมผู้นำสมัยพิเศษขึ้นที่กรุงโตเกียว โดยมีนายเศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรีไทยเข้าร่วมการประชุมดังกล่าวด้วย ในการประชุมมีการประกาศความสัมพันธ์รูปแบบใหม่ระหว่างญี่ปุ่นและกลุ่มประเทศอาเซียนภายใต้แนวคิดสำคัญ "ร่วมกันสร้างสรรค์" ในประเทศไทยก็ก้าวมาถึงช่วงเวลาที่ ผู้คนจำนวนมากที่มีความเข้าใจภาษาญี่ปุ่นและได้ให้การต้อนรับการเข้ามาลงทุนของบริษัทญี่ปุ่นอย่างอบอุ่นจะเปิดทางให้กับคนรุ่นต่อไป พวกเราชาวญี่ปุ่นที่อาศัยอยู่ในประเทศไทยเองก็ต้องมีความพร้อมที่จะสร้างความสัมพันธ์กับคนรุ่นใหม่ และสานต่อสายสัมพันธ์แห่งมิตรภาพนี้ไปยังคนรุ่นต่อไป ในฐานะหุ้นส่วนที่เท่าเทียมกัน เราจะร่วมกันคิด ร่วมกันสร้างสรรค์สิ่งใหม่ๆ และเปิดใจเข้าหากันภายใต้ความสัมพันธ์เช่นนี้กับประเทศไทยต่อไป จากนี้ไป ข้าพเจ้าขอการสนับสนุนและความร่วมมือจากทุกท่าน และจะทุ่มเทกายใจอย่างเต็มที่เพื่อพัฒนาความสัมพันธ์อันดีระหว่างสองประเทศให้ก้าวหน้ายิ่งขึ้นไป ข้าพเจ้าขอฝากเนื้อฝากตัวไว้ ณ ที่นี้