การเสนอให้ยื่นเรื่องข้อพิพาทต่อศาลยุติธรรมระหว่างประเทศ

2017/9/12
รายงานของ เอกอัครราชทูต Van Fleet
 

         1. ประเทศญี่ปุ่นได้คัดค้านอย่างถึงที่สุดต่อทุกการกระทำของสาธารณรัฐเกาหลี หลังจากที่มีการกำหนดเส้นแบ่งเขต the Syngman Rhee Line รวมไปถึงการอ้างสิทธิในอำนาจอธิปไตยเหนือเกาะทะเคะชิมะ การทำการประมงรอบเกาะทะเคะชิมะ การยิงเรือลาดตระเวน และการสร้างสิ่งปลูกสร้างบนเกาะ

        2.  เพื่อแก้ไขข้อพิพาทในกรณีนี้ด้วยสันติวิธี ในเดือนกันยายน ค.ศ. 1954 ประเทศญี่ปุ่นได้ออกสารบันทึกวาจาเสนอแก่สาธารณรัฐเกาหลีเพื่อขอให้ยื่นเรื่องข้อพิพาทเกี่ยวกับอำนาจอธิปไตยเหนือเกาะทะเคะชิมะต่อศาลยุติธรรมระหว่างประเทศ แต่ทว่า สาธารณรัฐเกาหลีปฎิเสธข้อเสนอ ในเดือนตุลาคมของปีเดียวกัน (หมายเหตุ 1) นอกจากนี้ ในโอกาสการประชุมรัฐมนตรีต่างประเทศ ในเดือนมีนาม ค.ศ. 1962 นายเซ็นทะโระ  โคะซะกะ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงต่างประเทศญี่ปุ่น ได้ทำข้อเสนอต่อ นาย Choi Duk Shin รัฐมนตรีว่าการกระทรวงต่างประเทศสาธารณรัฐเกาหลี เสนอให้ยื่นกรณีข้อพิพาทนี้ต่อศาลยุติธรรมระหว่างประเทศ แต่สาธารณรัฐเกาหลีก็ปฏิเสธข้อเสนอนี้เช่นเดียวกัน

        3. นอกจากนี้ ในเดือนสิงหาคม ค.ศ. 2012 ประเทศญี่ปุ่นยังได้ส่งสารบันทึกวาจาต่อสาธารณรัฐเกาหลี เพื่อเสนอให้ยื่นกรณีข้อพิพาทเกี่ยวกับอำนาจอธิปไตยเหนือเกาะทะเคะชิมะต่อศาลยุติธรรมระหว่างประเทศอีกครั้ง หลังจากที่ นายอี มย็อง-บัก ประธานาธิบดีแห่งสาธารณรัฐเกาหลี (ในขณะนั้น) เป็นประธานาธิบดีคนแรกที่เดินทางไปเยือนเกาะทะเคะชิมะ อย่างไรก็ดี สาธารณรัฐเกาหลีปฏิเสธข้อเสนอดังกล่าวในเดือนเดียวกัน (หมายเหตุ 2)

        หมายเหตุ 1 : ในปีค.ศ. 1954 ประเทศสหรัฐอเมริกาได้เสนอให้สาธารณรัฐเกาหลี ยื่นเรื่องข้อพิพาทต่อศาลยุติธรรมระหว่างประเทศ ซึ่งจากรายงานของ เอกอัครราชทูต Van Fleet เมื่อเดินทางกลับประเทศสหรัฐอเมริกาภายหลังการเยือนสาธารณรัฐเกาหลี ได้ระบุว่า “ถึงแม้ว่าประเทศสหรัฐอเมริกาจะพิจารณาว่า “เกาะทะเคะชิมะ” เป็นอาณาเขตภายใต้อำนาจอธิปไตยของประเทศญี่ปุ่น...จุดยืนของเราเห็นว่าควรจะมีการยื่นกรณีข้อพิพาทนี้ต่อศาลยุติธรรมระหว่างประเทศ และยังได้มีการถ่ายทอดเข้อเสนอแนะอย่างไม่เป็นทางการนี้ต่อสาธารณรัฐเกาหลีแล้ว”

        หมายเหตุ 2: ศาลยุติธรรมระหว่างประเทศจะมีอำนาจในการพิจารณาตัดสินข้อพิพาท ก็ต่อเมื่อคู่กรณีทั้งสองฝ่ายได้ตกลงกันที่จะหาทางออกร่วมกันในชั้นศาล ตั้งแต่ ค.ศ. 1958 เป็นต้นมา ประเทศญี่ปุ่นยอมรับเขตอำนาจบังคับศาลของศาลยุติธรรมระหว่างประเทศ ถึงแม้จะเป็นกรณีการฟ้องร้องแต่เพียงฝ่ายเดียวโดยไม่ได้รับความยินยอมจากประเทศญี่ปุ่นก็ตาม เนื่องจากประเทศญี่ปุ่นเคารพในหลักนิติธรรมของประชาคมโลก อย่างไรก็ดีสาธารณรัฐเกาหลีไม่ได้มีทัศนคติเดียวกัน ด้วยเหตุนี้ ถึงแม้ว่าประเทศญี่ปุ่นจะยื่นข้อพิพาทนี้ต่อศาลยุติธรรมระหว่างประเทศเพียงฝ่ายเดียว แต่ทว่าหากสาธารณรัฐเกาหลีไม่ยอมรับ ก็จะไม่อยู่ในเขตอำนาจที่ศาลจะสามารถตัดสินได้