สารจากนายนะชิดะ คะสุยะ เอกอัครราชทูตญี่ปุ่นประจำประเทศไทย ในโอกาสวันเฉลิมพระชนมพรรษาสมเด็จพระจักรพรรดิแห่งประเทศญี่ปุ่น

ข้าพเจ้าขอถวายพระพรชัยมงคล เนื่องในโอกาสมหามงคลเฉลิมพระชนมพรรษาสมเด็จพระจักรพรรดินารุฮิโตแห่งประเทศญี่ปุ่น ทรงเจริญพระชนมพรรษา 63 พรรษา ในวันที่ 23 กุมภาพันธ์ 2566 ขอพระองค์ทรงพระเจริญ
สมเด็จพระจักรพรรดิแห่งประเทศญี่ปุ่นทรงมีพระราชดำรัสในวีดิทัศน์ที่ทรงพระราชทานเนื่องในวาระดิถีขึ้นปีใหม่ ถึงความซาบซึ้งในพระราชหฤทัยจากการเสด็จฯเยือนชุมชนในท้องถิ่นเมื่อปีที่ผ่านมาหลังจากว่างเว้นไปนาน 3 ปี เนื่องจากสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 ทั้งนี้ทรงพระราชทานพรในวาระดิถีขึ้นปีใหม่ ส่งความปรารถนาดี และอำนวยพรแก่ประชาชนชาวญี่ปุ่นและผู้คนทั่วโลก ให้ปีใหม่นี้เป็นปีที่ทุกท่านจะสามารถก้าวไปข้างหน้าด้วยความหวัง
ในวันที่ 2 มกราคม 2566 สมเด็จพระจักรพรรดิ และสมเด็จพระจักรพรรดินี แห่งประเทศญี่ปุ่น พร้อมด้วยพระบรมวงศานุวงศ์ เสด็จออก ณ สีหบัญชร พระราชวังอิมพีเรียล เพื่อให้ประชาชนเข้าเฝ้าฯถวายพระพร ในโอกาสเฉลิมฉลองปีใหม่ ซึ่งถือเป็นครั้งแรกในรอบ 3 ปี โดยการนี้ เจ้าหญิงไอโกะ พระราชธิดาทรงเสด็จเข้าร่วมเป็นครั้งแรก นอกจากนี้ ในเดือนมิถุนายน 2566 นี้จะครบรอบ 30 ปี ราชาภิเษกสมรส สมเด็จพระจักรพรรดินารุฮิโตและสมเด็จพระจักรพรรดินีมาซาโกะแห่งประเทศญี่ปุ่นอีกด้วย
ในด้านความสัมพันธ์ไทย-ญี่ปุ่น เนื่องในโอกาสครบรอบ 135 ปี การสถาปนาความสัมพันธ์ทางการทูตระหว่างไทย-ญี่ปุ่น รวมถึงมีการจัดงานประชุมความร่วมมือทางเศรษฐกิจในภูมิภาคเอเชีย-แปซิฟิก (APEC) ในปีที่ผ่านมาจึงเป็นปีแห่งการแลกเปลี่ยนวัฒนธรรมอย่างกว้างขวางตลอดทั้งปี ซึ่งความสัมพันธ์แห่งมิตรภาพระหว่างไทย-ญี่ปุ่นอันแน่นแฟ้นเช่นนี้ มาจากพระราชไมตรีระหว่างพระราชวงศ์ไทยกับพระราชวงศ์ญี่ปุ่น การลงทุนค้าขาย และการแลกเปลี่ยนทางวัฒนธรรมอย่างกว้างขวางระหว่างประชาชนของทั้งสองประเทศ
ยิ่งไปกว่านั้น ปีนี้ยังเป็นปีครบรอบ 50 ปี ความสัมพันธ์อาเซียน-ญี่ปุ่น โดยประเทศญี่ปุ่นมีกำหนดการที่จะจัดการประชุมสุดยอดอาเซียน-ญี่ปุ่นในเดือนธันวาคม 2566 และเนื่องในโอกาสที่เป็นปีครบรอบที่สำคัญ ในสถานการณ์ปัจจุบันที่เริ่มก้าวข้ามผ่านวิกฤติการณ์จากโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 ได้เช่นนี้ ข้าพเจ้าหวังจากใจจริง ให้ทั้งประเทศไทยและประเทศญี่ปุ่นสามารถก้าวไปสู่อนาคตอันสดใสและเปิดทางสู่ความสัมพันธ์ใหม่ร่วมกันได้
ในประเทศไทย มีชาวญี่ปุ่นพำนักอยู่จำนวนราว 1 แสนคน และมีบริษัทญี่ปุ่นเข้ามาทำธุรกิจอยู่ราว 6,000 บริษัท ซึ่งต่างมีบทบาทสำคัญในการช่วยขับเคลื่อนเศรษฐกิจและสังคมไทยผ่านการส่งเสริมการส่งออกสินค้า เพิ่มการจ้างงาน และการฝึกฝนบุคลากร นอกจากนี้ นับตั้งแต่ปีที่ผ่านมา การเดินทางไปมาหาสู่กันระหว่างสองประเทศเริ่มกลับมาทำได้อย่างเสรีอีกครั้ง ผมได้ยินจากชาวไทยจำนวนมากที่กล่าวด้วยรอยยิ้มถึงการเดินทางไปเยือนประเทศญี่ปุ่นมา ในทางกลับกัน มีบรรดาแขกคนสำคัญจำนวนมากที่เดินทางจากประเทศญี่ปุ่นมาเยือนประเทศไทยแล้วเช่นกัน โดยมี นายคิชิดะ ฟุมิโอะ นายกรัฐมนตรีแห่งประเทศญี่ปุ่น คณะรัฐบาลญี่ปุ่น และผู้เกี่ยวข้องในแวดวงเศรษฐกิจ เป็นต้น ข้าพเจ้าขอแสดงความขอบคุณต่อรัฐบาลไทยมา ณ ทีนี้อีกครั้ง ที่ได้ช่วยสนับสนุนให้ชุมชนชาวญี่ปุ่นสามารถดำเนินธุรกิจและดำเนินกิจกรรมทางสังคมได้อย่างราบรื่น
สุดท้ายนี้ ข้าพเจ้าขอถวายพระพรชัยมงคลสมเด็จพระจักรพรรดิแห่งประเทศญี่ปุ่น ขอทรงมีพระพลานามัยสมบูรณ์แข็งแรง ทรงพระเกษมสำราญ และขออำนวยพรให้ในปีนี้ความสัมพันธ์ระหว่างประเทศไทยและประเทศญี่ปุ่น จะยิ่งวัฒนาสถาพรสืบไป
นะชิดะ คะสุยะ
เอกอัครราชทูตวิสามัญผู้มีอำนาจเต็มแห่งญี่ปุ่น ประจำราชอาณาจักรไทย