เกี่ยวกับทะเบียนครอบครัว
1.ขั้นตอนการหย่าตามกฎหมายแพ่งแห่งประเทศญี่ปุ่น
1. ขั้นตอนการหย่าตามกฎหมายแพ่งแห่งประเทศญี่ปุ่น (กรณีดำเนินการหย่าที่ประเทศญี่ปุ่นก่อน แล้วมาดำเนินการหย่าที่ประเทศไทยภายหลัง)
(ติดต่อสอบถาม : สำนักงานทะเบียนเขต/ท้องถิ่นตามทะเบียนครอบครัวญี่ปุ่น)
คู่สมรสฝ่ายชายหรือหญิงฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งที่เป็นชาวญี่ปุ่นซึ่งปกติมี “ถิ่นพำนักอาศัย” อยู่ในประเทศญี่ปุ่น (ดูอ้างอิงในหัวข้อถัดไป) สามารถยื่นเรื่องการหย่าไปยังสำนักงานทะเบียนเขต/ท้องถิ่นตามที่อยู่ในทะเบียนครอบครัวญี่ปุ่น (สามารถส่งไปรษณีย์หรือให้บุคคลอื่นนำไปยื่นได้) ตามที่กฎหมายแพ่งแห่งประเทศญี่ปุ่นกำหนดไว้ (ในที่นี้จะเรียกว่า กฎหมายแพ่ง) (กฏทั่วไปในการประยุกต์ใช้กฎหมาย มาตรา 27, กฎหมายทะเบียนครอบครัวมาตรา 40 และกฎหมายแพ่งมาตรา 764, 741 และ 739)
เกี่ยวกับถิ่นพำนักอาศัยโดยปกติ
ถิ่นพำนักอาศัยโดยปกตินั้น ไม่ใช่เป็นเพียงแค่ที่อยู่อาศัยเท่านั้น แต่หมายถึงสถานที่ที่บุคคลนั้นๆพำนักอาศัยอยู่เป็นระยะเวลานานพอสมควร มีความหมายใกล้เคียงกับที่พักอาศัย ถ้ามีการลงบันทึกเป็นทะเบียนบ้านญี่ปุ่นด้วยแล้วโดยทั่วไปจะสมมติฐานว่าบุคคลผู้นั้นโดยปกติแล้วพำนักอาศัยอยู่ในประเทศญี่ปุ่น แต่ในแง่ของการบริหารการปกครองนั้น จำเป็นต้องพิจารณาจากองค์ประกอบโดยรวมหลายๆอย่าง เช่น เป็นบ้านที่อาศัยอยู่ วัตถุประสงค์ในการพำนักอาศัย จำนวนปีที่พำนักอาศัย เหล่านี้เป็นต้น โดยหลักๆแล้วสำนักงานทะเบียนเขต/ท้องถิ่นประเทศญี่ปุ่นจะเป็นผู้พิจารณาประเด็นนี้
【เอกสารจำเป็น】
- ใบคำร้องแจ้งการหย่า จำนวน 2 ฉบับ
- ทะเบียบครอบครัวญี่ปุ่นฉบับเต็ม (ออกจากสำนักงานทะเบียนเขต/ท้องถิ่นแล้วมีอายุการใช้งานภายใน 3 เดือน) จำนวน 2 ฉบับ
- เอกสารที่สามารถแสดงได้ถึงสัญชาติของคู่สมรสชาวไทย (เช่น หนังสือเดินทาง หรือ ทะเบียนบ้านไทย)
- ฉบับแปลเป็นภาษาญี่ปุ่นของเอกสารในหัวข้อ 3. (จำเป็นต้องระบุชื่อผู้แปล)
(กรณีทะเบียนบ้านไทย กรุณาแปลหน้าที่ 1, หน้ารายละเอียดของคู่สมรสชาวไทย, และหน้าที่ 18 เฉพาะกรณีที่มีรายละเอียดอื่นระบุเพิ่มเติมเท่านั้น)
* เกี่ยวกับเอกสารจำเป็นของคู่สมรสชาวไทยนั้น กรุณาสอบถามรายละเอียดโดยตรงที่สำนักงานทะเบียนเขต/ท้องถิ่นของญี่ปุ่นที่ผู้ยื่นจะนำไปยื่น ทั้งนี้อาจมีรายละเอียดแตกต่างกันบ้างตามแต่ละพื้นที่ (เช่น ต้องมีการรับรองสำเนา หรือต้องมีการแปลเป็นภาษาอังกฤษพร้อมประทับตรารับรองคำแปลหรือไม่ เหล่านี้เป็นต้น)
【ข้อควรคำนึง】
- คู่สมรสชาวญี่ปุ่นโดยปกติแล้วต้องมีถิ่นพำนักอาศัยอยู่ที่ประเทศญี่ปุ่น เวลายื่นคำร้องเรื่องการหย่านั้นเจ้าตัวคู่สมรสทั้งสองฝ่ายไม่จำเป็นต้องไปแสดงตน แต่ทว่าการยื่นเรื่องการหย่านี้จะมีผลบังคับใช้ทันทีในวันที่ยื่นเรื่อง ดังนั้นการรับเรื่องจะทำได้เฉพาะที่สำนักงานทะเบียนเขต/ท้องถิ่นตามทะเบียนครอบครัวญี่ปุ่นเท่านั้น ขอให้พึงทราบว่าไม่สามารถยื่นคำร้องเรื่องการหย่าที่สถานทูตญี่ปุ่นหรือสถานกงสุลใหญ่ญี่ปุ่นได้ (กฎหมายทะเบียนครอบครัว มาตรา 40)
- แม้ว่าตอนที่สมรสกันนั้นจะสมรสกันภายใต้กฎหมายอื่นนอกเหนือจากกฎหมายแพ่งแห่งประเทศญี่ปุ่น (เช่น กฎหมายไทย) ก็ตาม สามารถแจ้งเรื่องการหย่าได้ในกรณีที่ทั้งสองฝ่ายหย่ากันด้วยความยินยอม (กฎหมายแพ่งมาตรา 739 และ 764)
- จำเป็นต้องมีลายเซ็นของพยานบุคคล 2 คน (ต้องเป็นบุคคลที่บรรลุนิติภาวะแล้ว) เวลายื่นคำร้องเรื่องการหย่านั้นพยานทั้งสองคนไม่จำเป็นต้องไปแสดงตน (กฎหมายแพ่งมาตรา 739 วรรค 2)
- กรณีคู่สมรสทั้งสองมีบุตรที่ยังไม่บรรลุนิติภาวะด้วยกันจำเป็นต้องกำหนดว่าฝ่ายใดจะเป็นผู้แทนโดยชอบธรรม (ผู้มีอำนาจในการปกครองบุตร) (กฎหมายทะเบียนครอบครัวมาตรา 76 และ 78 และ กฎหมายแพ่งมาตรา 819 และ 766)
- สำหรับคู่สมรสชาวญี่ปุ่นที่เปลี่ยนนามสกุสตามคู่สมรสชาวไทย ณ ตอนที่สมรสกันนั้น สามารถเปลี่ยนกลับไปใช้นามสกุลเดิมของชาวญี่ปุ่นก่อนการสมรสได้ โดยยื่นเรื่องขอเปลี่ยนนามสกุลภายใน 3 เดือนนับจากวันที่ยื่นเรื่องการหย่า (กฎหมายทะเบียนครอบครัวมาตรา 107 วรรค 3)
- เมื่อสำนักงานทะเบียนเขต/ท้องถิ่นได้รับเรื่องการหย่าไว้แล้ว จะทำการลงบันทึกเรื่องการหย่าในทะเบียนครอบครัวญี่ปุ่น สำหรับคู่สมรสชาวไทยนั้นจำเป็นต้องดำเนินเรื่องการหย่าในประเทศไทยด้วยตนเอง โดยการนำใบแปลทะเบียนครอบครัวญี่ปุ่นเรื่องการหย่าที่ทางสถานทูตญี่ปุ่นประจำประเทศไทยออกให้ไปยื่นที่ที่ว่าการเขต/อำเภอของไทย (เพื่อเปลี่ยนการบันทึกสถานภาพทางครอบครัว) โดยทางสถานทูตญี่ปุ่นจะออกใบรับรองการหย่าให้เมื่อท่านได้ยื่นใบคำร้องไว้กับทางสถานทูต
●สำหรับเอกสารจำเป็นเพื่อใช้ยื่นขอใบรับรองการหย่านั้น กรุณาดูที่“ใบรับรองข้อมูลในทะเบียนครอบครัวญี่ปุ่น”
2. ขั้นตอนการหย่าตามกฎหมายแพ่งและพาณิชย์แห่งประเทศไทย (กรณีดำเนินการหย่าที่ประเทศไทยก่อน แล้วไปดำเนินการหย่าที่ประเทศญี่ปุ่นภายหลัง) (ติดต่อสอบถาม : ที่ว่าการเขต/อำเภอของไทย)
เมื่อคู่สมรสทั้งสองฝ่ายตกลงหย่ากันด้วยความยินยอมได้แล้ว สามารถดำเนินเรื่องจดทะเบียนการหย่ากันด้วยความยินยอมได้ตามกฎหมายไทย (กฎหมายแพ่งและพาณิชย์แห่งประเทศไทย มาตรา 1515 และ 1531)
สำหรับรายละเอียดการดำเนินเรื่องจดทะเบียนการหย่าที่ประเทศไทยนั้น กรุณาสอบถามรายละเอียดโดยตรงที่ที่ว่าการเขต/อำเภอของไทย
*หลังจากดำเนินเรื่องการหย่าที่ประเทศไทยเรียบร้อยแล้ว ต้องดำเนินเรื่องการหย่าต่อที่ประเทศญี่ปุ่นด้วย (ติดต่อสอบถาม : สถานทูตญี่ปุ่นหรือสถานกงสุลใหญ่ญี่ปุ่น หรือสำนักงานทะเบียนเขต/ท้องถิ่นตามทะเบียนครอบครัวญี่ปุ่น)
หลังจากจดทะเบียนเรื่องการหย่าที่ประเทศไทยเรียบร้อยแล้ว ต้องแจ้งเรื่องการหย่าภายใน 3 เดือนนับจากวันหย่าไปยังสถานทูตญี่ปุ่นหรือสถานกงสุลใหญ่ญี่ปุ่น หรือสำนักงานทะเบียนเขต/ท้องถิ่นตามทะเบียนครอบครัวญี่ปุ่น (กฎหมายทะเบียนครอบครัวมาตรา 41 และ กฎหมายแพ่งมาตรา 764 และ 741) เมื่อดำเนินการแจ้งเรื่องการหย่าทั้งสองประเทศเสร็จสิ้นถือว่าขั้นตอนการหย่าของทั้งสองประเทศเป็นอันเสร็จสมบูรณ์
【เอกสารจำเป็นเพื่อใช้ยื่น (แจ้ง) เรื่องการหย่าไปยังประเทศญี่ปุ่น】
- ใบคำร้องแจ้งการหย่า จำนวน 2 ฉบับ
- ทะเบียบครอบครัวญี่ปุ่นฉบับเต็มของชาวญี่ปุ่น (ออกจากสำนักงานทะเบียนเขต/ท้องถิ่นแล้วมีอายุการใช้งานภายใน 3 เดือน) จำนวน 2 ฉบับ
- ใบสำคัญการหย่าของประเทศไทย (ตัวจริงเท่านั้น)
* กรณีมีบุตรที่ยังอยู่ภายใต้การปกครองของบิดาหรือมารดา กรุณายื่น “ทะเบียนการหย่า” ของไทยมาพร้อมกันด้วย - ฉบับแปลเป็นภาษาญี่ปุ่นของเอกสารในหัวข้อ 3. (จำเป็นต้องระบุชื่อผู้แปล)
- ทะเบียนบ้านไทย (ตัวจริงเท่านั้น)
- ฉบับแปลเป็นภาษาญี่ปุ่นของเอกสารในหัวข้อ 5. (จำเป็นต้องระบุชื่อผู้แปล)
แปลหน้าที่ 1, หน้าแสดงรายละเอียดของคู่สมรสชาวไทย, และหน้าที่ 18 (เฉพาะกรณีมีรายละเอียดอื่นระบุเพิ่มเติมเท่านั้น)
【ข้อควรคำนึง】
- เนื่องจากเป็นการยื่นคำร้องเพื่อแจ้งเรื่องการหย่าจึงไม่ต้องคำนึงว่าโดยปกติแล้วมีถิ่นพำนักอาศัยในประเทศญี่ปุ่นหรือไม่ สามารถยื่นแจ้งได้ทั้งที่สถานทูตญี่ปุ่น, สถานกงสุลใหญ่ญี่ปุ่น หรือสำนักงานทะเบียนเขต/ท้องถิ่นตามทะเบียนครอบครัวญี่ปุ่น แต่ทว่า กรณีต้องการยื่นแจ้งที่สำนักงานทะเบียนเขต/ท้องถิ่นตามทะเบียนครอบครัวญี่ปุ่น กรุณาสอบถามรายละเอียดโดยตรงที่สำนักงานทะเบียนเขต/ท้องถิ่นที่ประเทศญี่ปุ่นที่ผู้ยื่นจะนำไปยื่น (ทั้งนี้อาจจำเป็นต้องยื่นเอกสารอื่นเพิ่มเติมนอกเหนือจากที่กล่าวมาข้างต้น ขึ้นอยู่กับแต่ละพื้นที่ของสำนักงานทะเบียนเขต/ท้องถิ่น)
- กรณีคู่สมรสทั้งสองมีบุตรที่ยังไม่บรรลุนิติภาวะด้วยกันจำเป็นต้องกำหนดว่าฝ่ายใดจะเป็นผู้แทนโดยชอบธรรม (ผู้มีอำนาจในการปกครองบุตร) (กฎหมายทะเบียนครอบครัวมาตรา 76 และ 78 และ กฎหมายแพ่งมาตรา 819 และ 766) ทั้งนี้ในทะเบียนการหย่าที่ออกโดยที่ว่าการเขต/อำเภอของไทยจำเป็นต้องมีการระบุรายละเอียดเหล่านี้เช่นกัน
- เนื่องจากเป็นการยื่นคำร้องเพื่อแจ้งเรื่องการหย่าเท่านั้นจึงไม่จำเป็นต้องมีพยาน
- จำเป็นต้องแจ้งเรื่องการหย่าภายใน 3 เดือนนับจากวันที่จดทะเบียนเรื่องการหย่าที่ประเทศไทย (กฎหมายทะเบียนครอบครัวมาตรา 41) ทั้งนี้เป็นการยื่นใบคำร้องเพื่อแจ้งเรื่องการหย่าเท่านั้น ดังนั้นโดยทั่วไปแล้วผู้แจ้งจึงเป็นชื่อชาวญี่ปุ่นเพียงคนเดียว (กฎหมายทะเบียนครอบครัวมาตรา 40) แต่ทว่าในกรณีคู่สมรสทั้งสองมีบุตรที่ยังไม่บรรลุนิติภาวะด้วยกัน ต้องพึงระวังไว้ว่าจำเป็นต้องมีลายมือชื่อของคู่สมรสชาวไทยในช่องผู้แจ้งในใบคำร้องด้วย
3.ขั้นตอนการหย่าตามการตัดสินของศาลไทย
กรณีสามีภรรยาชาวไทยกับชาวญี่ปุ่นไม่สามารถตกลงกันได้เกี่ยวกับการหย่าสามารถยื่นฟ้องต่อศาลได้ หลังจากได้รับคำพิพากษาคดีของศาลไทยว่าคดีถึงที่สุดในเรื่องหย่า และตราบเท่าที่คำพิพากษาศาลในเรื่องหย่าเป็นไปตามขั้นตอนและเงื่อนไขของข้อกำหนดตามประมวลกฎหมายการฟ้องคดีแพ่งมาตราที่ 118 ของญี่ปุ่นแล้วนั้น (ดูอ้างอิงในหัวข้อถัดไป) จะมีผลบังคับใช้ครอบคลุมการหย่าที่ญี่ปุ่นด้วย ในกรณีนี้คู่กรณีต้องยื่นแจ้งเรื่องการหย่าไปยังสำนักงานทะเบียนเขต/ท้องถิ่นที่ประเทศญี่ปุ่น หรือยื่น (แจ้ง) เรื่องผ่านสถานทูตญี่ปุ่นหรือสถานกงสุลใหญ่ญี่ปุ่นประจำประเทศไทยภายในระยะเวลา 10 วันหลังจากมีคำพิพากษาศาลว่าคดีถึงที่สุด (กฎหมายทะเบียนครอบครัวมาตรา 77 และ 63 และ กฎหมายแพ่งมาตรา 764 และ 741)
เมื่อดำเนินการแจ้งเรื่องการหย่าทั้งสองประเทศเสร็จสิ้นถือว่าขั้นตอนการหย่าของทั้งสองประเทศเป็นอันเสร็จสมบูรณ์
【เงื่อนไขข้อกำหนด 4 ประการตามประมวลกฎหมายการฟ้องคดีแพ่งมาตราที่ 118 ของประเทศญี่ปุ่น】
- ตามระเบียบข้อบังคับของกฎหมายหรือว่าด้วยสนธิสัญญาแล้วนั้น สามารถยอมรับอำนาจคำพิพากษาของศาลในต่างประเทศได้
- จำเลยที่แพ้คดีได้รับการแจ้งหมายศาลในการเปิดคดีความที่มิใช่การแจ้งโดยการประกาศหรือการบอกกล่าวทางสาธารณะ หรือจำเลยมีการตอบสนองต่อคดีความ
- การดำเนินคดีความและเนื้อหาคำพิพากษาศาลนั้นไม่ขัดต่อความสงบเรียบร้อยและศีลธรรมของประชาชน
- มีการรับรองซึ่งกันและกัน
【เอกสารจำเป็น】
- ใบคำร้องแจ้งการหย่า จำนวน 2 ฉบับ
- ทะเบียบครอบครัวญี่ปุ่นฉบับเต็มของชาวญี่ปุ่น (ออกจากสำนักงานทะเบียนเขต/ท้องถิ่นแล้วมีอายุการใช้งานภายใน 3 เดือน) จำนวน 2 ฉบับ
- คำพิพากษาคดีของศาลไทยฉบับเต็ม (ตัวจริงเท่านั้น)
- ฉบับแปลเป็นภาษาญี่ปุ่นของเอกสารในหัวข้อ 3. (จำเป็นต้องระบุชื่อผู้แปล)
- หนังสือ (ใบ) สำคัญแสดงว่าคดีถึงที่สุด (ตัวจริงเท่านั้น)
- ฉบับแปลเป็นภาษาญี่ปุ่นของเอกสารในหัวข้อ 5.(จำเป็นต้องระบุชื่อผู้แปล)
【ข้อควรคำนึง】
- เนื่องจากเป็นการยื่นคำร้องเพื่อแจ้งเรื่องการหย่าเท่านั้นจึงไม่จำเป็นต้องมีพยาน
- จำเป็นต้องแจ้งเรื่องการหย่าภายใน 10 วันนับจากวันที่ศาลไทยออกหนังสือ (ใบ) สำคัญแสดงว่าคดีถึงที่สุด (กฎหมายทะเบียนครอบครัวมาตรา 77 และ 63) ทั้งนี้เป็นการยื่นใบคำร้องเพื่อแจ้งเรื่องการหย่าเท่านั้นผู้แจ้งจึงเป็นชื่อชาวญี่ปุ่น ส่วนการลงลายมือชื่อและการแสดงตัวของคู่สมรสชาวไทยนั้นขึ้นอยู่กับความสมัครใจ
3.อื่นๆ (กรณีคู่สมรสเสียชีวิต)
กรณีเป็นคู่สมรสระหว่างชาวไทยกับชาวญี่ปุ่น และคู่สมรสชาวไทยเสียชีวิต
กรณีคู่สมรสเสียชีวิตลงความสัมพันธ์ด้านการสมรสก็เป็นอันจบลงไปโดยปริยาย ไม่จำเป็นต้องแจ้งเรื่องการหย่า
แต่ทว่า กรณีคู่สมรสของชาวญี่ปุ่นเป็นชาวต่างชาติ เมื่อคู่สมรสชาวต่างชาติ (ชาวไทย) ได้เสียชีวิตลง แม้ความสัมพันธ์ด้านการสมรสเป็นอันจบลงไปแล้วก็ตามก็ไม่ได้เป็นเหตุให้คู่สมรสชาวญี่ปุ่นสามารถกลับไปใช้นามสกุลเดิมก่อนการสมรสได้ ในตอนที่สมรสกันนั้นชาวญี่ปุ่นที่มีความประสงค์อยากเปลี่ยนไปใช้นามสกุลของคู่สมรสชาวไทยจะสามารถเปลี่ยนกลับไปใช้นามสกุลญี่ปุ่นเดิมได้ก็ต่อเมื่อมีการแจ้งเรื่องการขอเปลี่ยนนามสกุลหลังจากวันที่ดำเนินการเรื่องการหย่าแล้วภายใน 3 เดือน (กฎหมายทะเบียนครอบครัวมาตรา 107 วรรค 3)
อีกประการหนึ่ง เกี่ยวกับข้อเท็จจริงของการเสียชีวิตของคู่สมรสชาวไทย สามารถลงบันทึกรายละเอียดในทะเบียนครอบครัวของชาวญี่ปุ่นได้ (เช่น ชื่อสกุลของผู้เสียชีวิต วันเวลาและสถานที่ที่เสียชีวิต ผู้แจ้งการเสียชีวิต เป็นต้น) ตามการแจ้งเจตจำนงของคู่สมรสชาวญี่ปุ่น เอกสารจำเป็นในการแจ้งเจตจำนง ได้แก่
【เอกสารจำเป็น】
- ใบแจ้งเจตจำนงเกี่ยวกับการลงสาเหตุแห่งการยกเลิกการสมรส (รายละเอียดการเสียชีวิต) (สามารถรับได้ที่สถานทูตญี่ปุ่น)
- ทะเบียบครอบครัวญี่ปุ่นฉบับเต็มของชาวญี่ปุ่น (ออกจากสำนักงานทะเบียนเขต/ท้องถิ่นแล้วมีอายุการใช้งานภายใน 3 เดือน) จำนวน 2 ฉบับ
- ใบมรณบัตรของคู่สมรสชาวไทย (ตัวจริงเท่านั้น)
- ฉบับแปลเป็นภาษาญี่ปุ่นของเอกสารในหัวข้อ 3. (จำเป็นต้องระบุชื่อผู้แปล)
ติดต่อสอบถาม
สถานเอกอัครราชทูตญี่ปุ่นประจำประเทศไทย แผนกกงสุล ฝ่ายหนังสือเดินทางและการรับรองเอกสาร
โทรศัพท์: 0-2207-8501, 0-2696-3001 (ภาษาญี่ปุ่นและภาษาไทย) โทรสาร: 0-2207-8511 อีเมล: koseki@bg.mofa.go.jp
สถานกงสุลญี่ปุ่นประจำจังหวัดเชียงใหม่ ฝ่ายหนังสือเดินทางและการรับรองเอกสาร
โทรศัพท์: 053-203367 (ต่อ 103) โทรสาร: 053-203373