หน้าแรก | เส้นทาง 60 ปีในฐานะประเทศที่มุ่งมั่นเพื่อสันติภาพ



เส้นทาง 60 ปีในฐานะประเทศที่มุ่งมั่นเพื่อสันติภาพ
สุนทรพจน์ ฯพณฯ นายจุนอิชิโร โคะอิซึมิ นายกรัฐมนตรีญี่ปุ่น ในการประชุมประเทศเอเชียและแอฟริกา
สถานะพื้นฐานของรัฐบาลญี่ปุ่นเกี่ยวกับการเยือนศาลเจ้ายาสึคุนิของนายกรัฐมนตรี จุนอิชิโร โคะอิซุมิ
Foreign Policy
Japan's School Textbooks Examination Procedure

สุนทรพจน์โดย ฯพณฯ นายจุนอิชิโร โคะอิซึมิ
นายกรัฐมนตรีญี่ปุ่น

วันที่ 22 เมษายน 2548
ท่านประธาน
ท่านผู้มีเกียรติ


นับเป็นเกียรติอย่างยิ่งที่ได้มาร่วมการประชุมครั้งประวัติศาสตร์นี้ ซึ่งเป็นการประชุมร่วมกันครั้งแรกของประเทศเอเชียและแอฟริกาในรอบห้าสิบปี ข้าพเจ้าขอแสดงความขอบคุณอย่างสุดซึ้งต่อประธานร่วม ทั้งท่านประธานจากประเทศอินโดนีเซีย เจ้าภาพจัดการประชุม และท่านประธานจากแอฟริกาใต้ ข้าพเจ้ามาประชุมครั้งนี้เพื่อกระทำการสองประการ ประการหนึ่ง เพื่อมองย้อนกลับไปยังเส้นทางที่พวกเราได้เดินมาด้วยกัน ขณะที่สำนึกถึงสายสัมพันธ์อันแนบแน่นที่เชื่อมโยงเราด้วยกันตลอดระยะห้าสิบปีที่ผ่านมาอีกครั้ง ทั้งยังเพื่อการมีส่วนร่วมในการแลกเปลี่ยนทัศนะอย่างเปิดเผยว่าประเทศเอเชียและแอฟริกาจะต้องทำอะไรในอันจะส่งเสริมสันติสุขและความรุ่งเรืองของประชาชนทั่วโลกในศตวรรษที่ 21

เมื่อห้าสิบปีก่อน ต่อหน้าที่ประชุมประเทศเอเชีย-แอฟริกา ที่กรุงบันดุง ประเทศ อินโดนีเชีย ญี่ปุ่นประกาศเจตนารมณ์ในการพัฒนาตนเองเป็นประเทศรักสันติ เจตจำนงของเมื่อห้าสิบปีที่แล้วยังคงแน่วแน่มั่นคงตราบจนทุกวันนี้ การยึดครองและการรุกรานในอดีตของญี่ปุ่นได้สร้างความเสียหายและความทุกข์อย่างใหญ่หลวงแก่ประชาชนในหลายประเทศ โดยเฉพาะอย่างยิ่ง ประเทศในเอเชีย ญี่ปุ่นเผชิญความจริงแห่งประวัติศาสตร์ด้วยจิตใจนอบน้อม และด้วยความรู้สึกเสียใจอย่างสุดซึ้งและคำขอโทษจากใจที่ประทับในจิตสำนึกตลอดมา นับตั้งแต่สงครามโลกครั้งที่ 2 ยุติลง ญี่ปุ่นได้ยืนหยัดรักษาหลักการตลอดมาในการแก้ไขเรื่องทุกประการด้วยสันติวิธี ปราศจากการพึ่งพาการใช้กำลัง โดยจะไม่หวนคืนเป็นมหาอำนาจทางทหาร แต่จะเป็นมหาอำนาจทางเศรษฐกิจ ญี่ปุ่นประกาศด้วยว่าจะยึดมั่นสนับสนุนเพื่อสันติสุขและความเจริญรุ่งเรืองของโลกต่อไปในอนาคต โดยคำนึงถึงคุณค่าความไว้วางใจกับนานาประเทศทั่วโลก

ท่านประธานที่นับถือ

การพัฒนาของประเทศญี่ปุ่นในระยะห้าสิบปีที่ผ่านมาเป็นผลจากความพยายามอย่างไม่รู้จักเหน็ดเหนื่อยของประชาชนชาวญี่ปุ่น อย่างไรก็ตาม ญี่ปุ่นก็สามารถบรรลุการพัฒนาเป็นครั้งแรกผ่านความช่วยเหลือที่ได้รับจากประชาคมโลก ญี่ปุ่นจะไม่ลืมความจริงข้อนี้ว่าประชาชนชาวญี่ปุ่นฟื้นขึ้นมาได้จากความหายนะหลังสงครามโลกครั้งที่ 2 ข้าพเจ้า ในฐานะตัวแทนของชนรุ่นนั้น จึงหวังที่จะก้าวไปด้วยกันกับประชาชนแห่งเอเชีย และ แอฟริกา ที่พยายามฝ่าฟันเพื่อความก้าวหน้าของชีวิตด้วยหยาดเหงื่อแห่งตน

จากพื้นฐานแนวคิดนี้ ญี่ปุ่นให้ความร่วมมือเพื่อการพัฒนากับประเทศในเอเชียและ แอฟริกา โดยเน้นด้านการพัฒนาทรัพยากรมนุษย์ การสร้างโครงสร้างพื้นฐานทางเศรษฐกิจ และมาตรการด้านสาธารณสุขและอนามัย รวมถึงปัญหาน้ำสะอาดและโรคติดเชื้อ ญี่ปุ่นยังดำเนินความพยายามในการปรับปรุงบรรยากาศด้านการค้าและการลงทุนให้ดีขึ้นด้วย

วันนี้ ข้าพเจ้าจะขอเน้นในสามประเด็น ว่าจากนี้ไปเราควรจับมือกันทำอะไร ประการแรก การพัฒนาเศรษฐกิจ สอง การสร้างสันติสุข และสาม ส่งเสริมความร่วมมือระหว่างประเทศ

ประการแรก ญี่ปุ่นเน้นการเสริมสร้างความเป็นหุ้นส่วนในกรอบของการพัฒนา และการลดความยากจน สิ่งสำคัญยิ่งยวดในการจะบรรลุผลในการสร้างประเทศ คือความตั้งใจของแต่ละประเทศที่จะพัฒนาประเทศด้วยความมุ่งมั่นและความพยายามของตน ญี่ปุ่นขอชมเชยและสนับสนุนความพยายามเช่นนี้ และจะดำเนินความพยายามต่อไปสู่จุดหมายของการให้ความช่วยเหลือเพื่อการพัฒนา (ODA) ให้ถึงร้อยละ 0.7 ของรายได้รวมประชาชาติเพื่อสนับสนุนเป้าหมาย (การพัฒนาครบรอบหนึ่งพันปี) Millennium Development Goals จากมุมมองนี้ ญี่ปุ่นรับรองว่าจะให้ ODA ในระดับที่เชื่อถือได้ และเพียงพอ และยังจะหาวิธีดำเนินการอย่างเป็นรูปธรรมเพื่อสนับสนุนความสามารถพึ่งพาตนเองด้วยการเปิดตลาดให้แก่ผลิตภัณฑ์จากประเทศที่พัฒนาน้อยที่สุด

เอเชียได้ก้าวรุดหน้าไปอย่างมากในระยะเวลาห้าสิบปีที่ผ่านมา อย่างไรก็ดี ยังมีสิ่งท้าทายความสามารถที่สำคัญ ๆ อยู่ไม่น้อย รวมทั้งการปรับเปลี่ยนความแตกต่างในระดับของการพัฒนา การส่งเสริมความเป็นหุ้นส่วนเศรษฐกิจ การดำเนินมาตรการป้องกันและบรรเทาภัยพิบัติ โดยอาศัยประสบการณ์ล่าสุดจากการเกิดแผ่นดินไหวขนาดใหญ่นอกชายฝั่งสุมาตรา ซึ่งตามมาด้วยการเกิดสึนามิ และการเสริมสร้างมาตรการป้องกันโจรสลัด ญี่ปุ่นมุ่งมั่นที่จะกำหนดนโยบายให้เป็นรูปธรรม และสร้างความเป็นหุ้นส่วนใหม่ในเอเชีย โดยจะให้ความช่วยเหลือเป็นมูลค่ามากกว่า 2,500 ล้านดอลล่าร์ในระยะเวลาห้าปีในการช่วยเหลือเพื่อมาตรการป้องกันและบรรเทาภัยพิบัติ และการบูรณะฟื้นฟูในเอเชีย แอฟริกา และภูมิภาคอื่น

เนื่องจากปีนี้เป็น “ปีแห่งอาฟริกา” ญี่ปุ่นจึงได้เพิ่มความร่วมมือที่ให้แก่แอฟริกามากยิ่งขึ้น ผ่านที่ประชุมระหว่างประเทศแห่งโตเกียว ว่าด้วยกระบวนการการพัฒนาทวีปแอฟริกา (Tokyo International Conference on African Development – TICAD) ที่อยู่บนพื้นฐานความสามัคคีระหว่างแอฟริกาและประชาคมระหว่างประเทศ ข้าพเจ้าขอถือโอกาสนี้ประกาศว่าญี่ปุ่นจะจัดการประชุม TICAD ครั้งที่ 4 ในปี ค.ศ. 2008 และในอีกสามปีข้างหน้า ญี่ปุ่นจะเพิ่มความร่วมมือโอดีเอที่ให้แก่แอฟริกา โดยยังคงลักษณะการช่วยเหลือแบบให้เปล่าเป็นหลักต่อไป

ต่อไปจะกล่าวถึง แนวคิดการเสริมสร้างความร่วมมือระหว่างเอเชีย และแอฟริกา ซึ่งเป็นประเด็นเหมาะสมที่สุดสำหรับการประชุมครั้งนี้ ญี่ปุ่นเสนอให้จัดทำโครงการ เยาวชนอาสาสมัครเอเชีย-แอฟริกา เพื่อให้เยาวชนคนหนุ่มสาวเอเชียได้พบปะ มีปฏิสัมพันธ์ และส่งเสริมการพัฒนาทรัพยากรมนุษย์กับเยาวชนแอฟริกา ยิ่งกว่านั้น ทั้งภาครัฐและภาคเอกชนญี่ปุ่นจะให้ความช่วยเหลือในการนำเอาความรู้ที่ได้สั่งสมจากกระบวนการพัฒนาเพื่อเพิ่มอัตราผลผลิตของเอเชียมาประยุกต์ใช้กับแอฟริกาด้วย ข้าพเจ้ารู้สึกยินดีที่จะประกาศว่า ด้วยความพยายามดังกล่าว ญี่ปุ่นจะสามารถส่งเสริมการพัฒนาทรัพยากรมนุษย์ให้เกิดขึ้นในหมู่ชาวแอฟริกันเป็นจำนวนเรือนหมื่นในเวลาสี่ปีข้างหน้า

ประการที่สอง ญี่ปุ่นพิจารณาเห็นว่าการสร้างสันติสุขเป็นเรื่องสำคัญยิ่ง สันติสุขและความมั่นคงเป็นองค์ประกอบพื้นฐานที่จำเป็นแท้จริงต่อการพัฒนาเศรษฐกิจ ญี่ปุ่นได้พยายามอย่างหนักตลอดมาเพื่อไม่ให้มีการแพร่หลายของอาวุธที่มีอานุภาพการทำลายล้างสูง และเพื่อการป้องกันการก่อการร้าย ญี่ปุ่นยังดำเนินความพยายามเพื่อการสร้างสันติภาพ อาทิเช่น ในกัมพูชา ติมอร์ตะวันออก และอัฟกานิสถาน เป็นต้น ญี่ปุ่นจะดำเนินการให้ความช่วยเหลือแก่ชาวปาเลสไตน์ในการส่งเสริมสันติภาพในตะวันออกกลาง และแอฟริกา ซึ่งเป็นประเทศที่กำลังมีการเคลื่อนไหวอย่างแข็งขันเพื่อสันติภาพ พวกเราต้องดำเนินบทบาทอย่างมีประสิทธิภาพในการป้องกันการค้าอาวุธที่ขัดต่อความสงบสุข ตลอดจนเผยแพร่คุณธรรมของกติกาของกฎหมาย เสรีภาพ และประชาธิปไตย

ประการที่สาม เนื่องจากโลกยุคโลกาภิวัตน์ มุ่งแสวงหาระเบียบโลกใหม่ ญี่ปุ่นจะส่งเสริมความร่วมมือระหว่างประเทศมากขึ้นเพื่อเสริมความเป็นปึกแผ่นกับเอเชีย และแอฟริกา สหประชาชาติควรต้องดำเนินบทบาทเป็นศูนย์กลางสูงสุดในด้านความร่วมมือระหว่างประเทศ อย่างไรก็ตาม เพื่อเป็นการตอบสนองต่อการท้าทายต่างๆ ที่โลกกำลังเผชิญอย่างมีประสิทธิภาพ สหประชาชาติ โดยเฉพาะอย่างยิ่ง คณะมนตรีความมั่นคง จำต้องมีการปฏิรูป เพื่อองค์กรจะได้สามารถสะท้อนถึงความจริงของโลกในปัจจุบัน ญี่ปุ่นจะให้ความร่วมมืออย่างเต็มที่ในการจะตกลงใจว่าด้วยการปฏิรูปของคณะมนตรีความมั่นคงก่อนเดือนกันยายน ตามที่มีการเสนอโดยนายโคฟี อันนัน เลขาธิการสหประชาชาติ

การที่เราเสริมความแข็งแกร่งของความเป็นหุ้นส่วนระหว่างเอเชียและแอฟริกา จึงเป็นช่วงเวลาสำคัญที่จะต้องแบ่งปันประสบการณ์ และความรู้ผ่านการแลกเปลี่ยนความคิดเห็นระหว่างวัฒนธรรม ขนบธรรมเนียมประเพณี และปัจเจกชน ญี่ปุ่นจะเป็นเจ้าภาพจัดการประชุม World Civilization Forum (การประชุมวัฒนธรรมโลก) ในเดือนกรกฎาคม เพื่อจะแบ่งปันประสบการณ์ของประเทศต่าง ๆ ในการอนุรักษ์วัฒนธรรมประเพณีไปพร้อมกับการมุ่งหน้าสู่ความทันสมัย

ท่านประธาน

ปีที่แล้ว ศาสตราจารย์ Wangari Maathai ผู้ช่วยรัฐมนตรีสิ่งแวดล้อม แห่งเคนย่า เป็นสตรีอาฟริกันคนแรกที่ได้รับรางวัลโนเบล สาขาสันติภาพ เกียรติยศนี้สะท้อนถึงการยอมรับในคุณูปการที่ท่านได้อุทิศตนเพื่อการพัฒนาอย่างยั่งยืนด้วยการปลูกต้นไม้ ในพิธีเปิดงานมหกรรม 2005 World Exposition Aichi ที่ประเทศญี่ปุ่น ศาสตราจารย์ Maathai ก็ได้มาในพิธีเปิดงาน ซึ่งแนวคิดของงานมหกรรมครั้งนี้คือ “ปัญญาแห่งธรรมชาติ – Nature’s Wisdom” ศาสตราจารย์ Maathai ได้อ้างถึงทัศนะว่าด้วย“mottai nai” (น่าเสียดาย) ของญี่ปุ่น ย้ำถึงความสำคัญของการใช้ทรัพยากร และการรักษาสิ่งแวดล้อมอย่างมีประสิทธิภาพ การใช้ทรัพยากรอย่างรอบคอบ ใช้ให้เกิดประโยชน์อย่างสมบูรณ์ และนำมาใช้ซ้ำหากเป็นไปได้ เหล่านี้คือหัวใจและวิญญาณของคำพูด mottai nai ซึ่ง ศาสตราจารย์ Maathai เข้าใจอย่างถ่องแท้ เอเชียและแอฟริกาโชคดีที่มีธรรมชาติที่มั่งคั่ง ที่ให้ผลประโยชน์มหาศาล ข้าพเจ้าเชื่อว่าด้วยความก้าวหน้าทางวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี มีความเป็นไปได้ที่จะสร้างสังคมที่มีพลัง และสังคมที่เข็มแข็งที่จะสามารถบรรลุจุดประสงค์ทั้งการรักษาสิ่งแวดล้อมและพัฒนา สุดท้าย ข้าพเจ้าใคร่กล่าวถึงความตั้งใจอันแน่วแน่ของญี่ปุ่นที่จะไม่ละความพยายามในการสร้างสังคมดังกล่าว

ขอบคุณ

สุนทรพจน์นายกรัฐมนตรีญี่ปุ่นเป็นภาษาอังกฤษ