แผนกกงสุล

2022/6/7

เกี่ยวกับการหย่าระหว่างชาวไทยกับชาวญี่ปุ่น

1. ขั้นตอนการหย่าตามกฎหมายแพ่งแห่งประเทศญี่ปุ่น (กรณีดำเนินการหย่าที่ประเทศญี่ปุ่นก่อน แล้วมาดำเนินการหย่าที่ประเทศไทยภายหลัง)

(ติดต่อสอบถาม : สำนักงานทะเบียนเขต/ท้องถิ่นตามทะเบียนครอบครัวญี่ปุ่น 

คู่สมรสฝ่ายชายหรือหญิงฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งที่เป็นชาวญี่ปุ่นซึ่งปกติมี “ถิ่นพำนักอาศัย” อยู่ในประเทศญี่ปุ่น (ดูอ้างอิงในหัวข้อถัดไป) สามารถยื่นเรื่องการหย่าไปยังสำนักงานทะเบียนเขต/ท้องถิ่นตามที่อยู่ในทะเบียนครอบครัวญี่ปุ่น (สามารถส่งไปรษณีย์หรือให้บุคคลอื่นนำไปยื่นได้) ตามที่กฎหมายแพ่งแห่งประเทศญี่ปุ่นกำหนดไว้ (ในที่นี้จะเรียกว่า กฎหมายแพ่ง) (กฏทั่วไปในการประยุกต์ใช้กฎหมาย มาตรา 27, กฎหมายทะเบียนครอบครัวมาตรา 40 และกฎหมายแพ่งมาตรา 764, 741 และ 739)

 

เกี่ยวกับถิ่นพำนักอาศัยโดยปกติ

ถิ่นพำนักอาศัยโดยปกตินั้น ไม่ใช่เป็นเพียงแค่ที่อยู่อาศัยเท่านั้น แต่หมายถึงสถานที่ที่บุคคลนั้นๆพำนักอาศัยอยู่เป็นระยะเวลานานพอสมควร มีความหมายใกล้เคียงกับที่พักอาศัย ถ้ามีการลงบันทึกเป็นทะเบียนบ้านญี่ปุ่นด้วยแล้วโดยทั่วไปจะสมมติฐานว่าบุคคลผู้นั้นโดยปกติแล้วพำนักอาศัยอยู่ในประเทศญี่ปุ่น แต่ในแง่ของการบริหารการปกครองนั้น จำเป็นต้องพิจารณาจากองค์ประกอบโดยรวมหลายๆอย่าง เช่น เป็นบ้านที่อาศัยอยู่ วัตถุประสงค์ในการพำนักอาศัย จำนวนปีที่พำนักอาศัย เหล่านี้เป็นต้น โดยหลักๆแล้วสำนักงานทะเบียนเขต/ท้องถิ่นประเทศญี่ปุ่นจะเป็นผู้พิจารณาประเด็นนี้

 

【เอกสารจำเป็น】

  1. ใบคำร้องแจ้งการหย่า จำนวน 2 ฉบับ
  2. ทะเบียบครอบครัวญี่ปุ่นฉบับเต็ม (ออกจากสำนักงานทะเบียนเขต/ท้องถิ่นแล้วมีอายุการใช้งานภายใน 3 เดือน) จำนวน 2 ฉบับ
  3. เอกสารที่สามารถแสดงได้ถึงสัญชาติของคู่สมรสชาวไทย (เช่น หนังสือเดินทาง หรือ ทะเบียนบ้านไทย)
  4. ฉบับแปลเป็นภาษาญี่ปุ่นของเอกสารในหัวข้อ 3. (จำเป็นต้องระบุชื่อผู้แปล)
    (กรณีทะเบียนบ้านไทย กรุณาแปลหน้าที่ 1, หน้ารายละเอียดของคู่สมรสชาวไทย, และหน้าที่ 18 เฉพาะกรณีที่มีรายละเอียดอื่นระบุเพิ่มเติมเท่านั้น)
    * เกี่ยวกับเอกสารจำเป็นของคู่สมรสชาวไทยนั้น กรุณาสอบถามรายละเอียดโดยตรงที่สำนักงานทะเบียนเขต/ท้องถิ่นของญี่ปุ่นที่ผู้ยื่นจะนำไปยื่น ทั้งนี้อาจมีรายละเอียดแตกต่างกันบ้างตามแต่ละพื้นที่ (เช่น ต้องมีการรับรองสำเนา หรือต้องมีการแปลเป็นภาษาอังกฤษพร้อมประทับตรารับรองคำแปลหรือไม่ เหล่านี้เป็นต้น)
 

【ข้อควรคำนึง】

  1. คู่สมรสชาวญี่ปุ่นโดยปกติแล้วต้องมีถิ่นพำนักอาศัยอยู่ที่ประเทศญี่ปุ่น เวลายื่นคำร้องเรื่องการหย่านั้นเจ้าตัวคู่สมรสทั้งสองฝ่ายไม่จำเป็นต้องไปแสดงตน แต่ทว่าการยื่นเรื่องการหย่านี้จะมีผลบังคับใช้ทันทีในวันที่ยื่นเรื่อง ดังนั้นการรับเรื่องจะทำได้เฉพาะที่สำนักงานทะเบียนเขต/ท้องถิ่นตามทะเบียนครอบครัวญี่ปุ่นเท่านั้น ขอให้พึงทราบว่าไม่สามารถยื่นคำร้องเรื่องการหย่าที่สถานทูตญี่ปุ่นหรือสถานกงสุลใหญ่ญี่ปุ่นได้ (กฎหมายทะเบียนครอบครัว มาตรา 40)
  2. แม้ว่าตอนที่สมรสกันนั้นจะสมรสกันภายใต้กฎหมายอื่นนอกเหนือจากกฎหมายแพ่งแห่งประเทศญี่ปุ่น (เช่น กฎหมายไทย) ก็ตาม สามารถแจ้งเรื่องการหย่าได้ในกรณีที่ทั้งสองฝ่ายหย่ากันด้วยความยินยอม (กฎหมายแพ่งมาตรา 739 และ 764)
  3. จำเป็นต้องมีลายเซ็นของพยานบุคคล 2 คน (ต้องเป็นบุคคลที่บรรลุนิติภาวะแล้ว) เวลายื่นคำร้องเรื่องการหย่านั้นพยานทั้งสองคนไม่จำเป็นต้องไปแสดงตน (กฎหมายแพ่งมาตรา 739 วรรค 2)
  4. กรณีคู่สมรสทั้งสองมีบุตรที่ยังไม่บรรลุนิติภาวะด้วยกันจำเป็นต้องกำหนดว่าฝ่ายใดจะเป็นผู้แทนโดยชอบธรรม (ผู้มีอำนาจในการปกครองบุตร) (กฎหมายทะเบียนครอบครัวมาตรา 76 และ 78 และ กฎหมายแพ่งมาตรา 819 และ 766)
  5. สำหรับคู่สมรสชาวญี่ปุ่นที่เปลี่ยนนามสกุสตามคู่สมรสชาวไทย ณ ตอนที่สมรสกันนั้น สามารถเปลี่ยนกลับไปใช้นามสกุลเดิมของชาวญี่ปุ่นก่อนการสมรสได้ โดยยื่นเรื่องขอเปลี่ยนนามสกุลภายใน 3 เดือนนับจากวันที่ยื่นเรื่องการหย่า (กฎหมายทะเบียนครอบครัวมาตรา 107 วรรค 3)
  6. เมื่อสำนักงานทะเบียนเขต/ท้องถิ่นได้รับเรื่องการหย่าไว้แล้ว จะทำการลงบันทึกเรื่องการหย่าในทะเบียนครอบครัวญี่ปุ่น สำหรับคู่สมรสชาวไทยนั้นจำเป็นต้องดำเนินเรื่องการหย่าในประเทศไทยด้วยตนเอง โดยการนำใบแปลทะเบียนครอบครัวญี่ปุ่นเรื่องการหย่าที่ทางสถานทูตญี่ปุ่นประจำประเทศไทยออกให้ไปยื่นที่ที่ว่าการเขต/อำเภอของไทย (เพื่อเปลี่ยนการบันทึกสถานภาพทางครอบครัว) โดยทางสถานทูตญี่ปุ่นจะออกใบรับรองการหย่าให้เมื่อท่านได้ยื่นใบคำร้องไว้กับทางสถานทูต
    สำหรับเอกสารจำเป็นเพื่อใช้ยื่นขอใบรับรองการหย่านั้น กรุณาดูที่ <a data-cke-saved-href="">ใบรับรองข้อมูลในทะเบียนครอบครัวญี่ปุ่น"
 

2. ขั้นตอนการหย่าตามกฎหมายแพ่งและพาณิชย์แห่งประเทศไทย (กรณีดำเนินการหย่าที่ประเทศไทยก่อน แล้วไปดำเนินการหย่าที่ประเทศญี่ปุ่นภายหลัง) (ติดต่อสอบถาม : ที่ว่าการเขต/อำเภอของไทย)

เมื่อคู่สมรสทั้งสองฝ่ายตกลงหย่ากันด้วยความยินยอมได้แล้ว สามารถดำเนินเรื่องจดทะเบียนการหย่ากันด้วยความยินยอมได้ตามกฎหมายไทย (กฎหมายแพ่งและพาณิชย์แห่งประเทศไทย มาตรา 1515 และ 1531)
สำหรับรายละเอียดการดำเนินเรื่องจดทะเบียนการหย่าที่ประเทศไทยนั้น กรุณาสอบถามรายละเอียดโดยตรงที่ที่ว่าการเขต/อำเภอของไทย

*หลังจากดำเนินเรื่องการหย่าที่ประเทศไทยเรียบร้อยแล้ว ต้องดำเนินเรื่องการหย่าต่อที่ประเทศญี่ปุ่นด้วย (ติดต่อสอบถาม : สถานทูตญี่ปุ่นหรือสถานกงสุลใหญ่ญี่ปุ่น หรือสำนักงานทะเบียนเขต/ท้องถิ่นตามทะเบียนครอบครัวญี่ปุ่น)
หลังจากจดทะเบียนเรื่องการหย่าที่ประเทศไทยเรียบร้อยแล้ว ต้องแจ้งเรื่องการหย่าภายใน 3 เดือนนับจากวันหย่าไปยังสถานทูตญี่ปุ่นหรือสถานกงสุลใหญ่ญี่ปุ่น หรือสำนักงานทะเบียนเขต/ท้องถิ่นตามทะเบียนครอบครัวญี่ปุ่น (กฎหมายทะเบียนครอบครัวมาตรา 41 และ กฎหมายแพ่งมาตรา 764 และ 741) เมื่อดำเนินการแจ้งเรื่องการหย่าทั้งสองประเทศเสร็จสิ้นถือว่าขั้นตอนการหย่าของทั้งสองประเทศเป็นอันเสร็จสมบูรณ์

 

【เอกสารจำเป็นเพื่อใช้ยื่น (แจ้ง) เรื่องการหย่าไปยังประเทศญี่ปุ่น】

  1. ใบคำร้องแจ้งการหย่า จำนวน 2 ฉบับ
  2. ทะเบียบครอบครัวญี่ปุ่นฉบับเต็มของชาวญี่ปุ่น (ออกจากสำนักงานทะเบียนเขต/ท้องถิ่นแล้วมีอายุการใช้งานภายใน 3 เดือน) จำนวน 2 ฉบับ
  3. ใบสำคัญการหย่าของประเทศไทย (ตัวจริงเท่านั้น)
    *กรณีมีบุตรที่ยังอยู่ภายใต้การปกครองของบิดาหรือมารดา กรุณายื่น “ทะเบียนการหย่า” ของไทยมาพร้อมกันด้วย
  4. ฉบับแปลเป็นภาษาญี่ปุ่นของเอกสารในหัวข้อ 3. (จำเป็นต้องระบุชื่อผู้แปล)
    รูปแบบการแปลเป็นภาษาญี่ปุ่นของ “ใบสำคัญการหย่า” WORD PDF
    รูปแบบการแปลเป็นภาษาญี่ปุ่นของ “ทะเบียนการหย่า” EXCEL PDF
  5. ทะเบียนบ้านไทย (ตัวจริงเท่านั้น)
  6. ฉบับแปลเป็นภาษาญี่ปุ่นของเอกสารในหัวข้อ 5. (จำเป็นต้องระบุชื่อผู้แปล)
    แปลหน้าที่ 1, หน้าแสดงรายละเอียดของคู่สมรสชาวไทย, และหน้าที่ 18 (เฉพาะกรณีมีรายละเอียดอื่นระบุเพิ่มเติมเท่านั้น)
    รูปแบบการแปลเป็นภาษาญี่ปุ่นของ “ทะเบียนบ้านไทย WORD PDF
 

【ข้อควรคำนึง】

  1. เนื่องจากเป็นการยื่นคำร้องเพื่อแจ้งเรื่องการหย่าจึงไม่ต้องคำนึงว่าโดยปกติแล้วมีถิ่นพำนักอาศัยในประเทศญี่ปุ่นหรือไม่ สามารถยื่นแจ้งได้ทั้งที่สถานทูตญี่ปุ่น, สถานกงสุลใหญ่ญี่ปุ่น หรือสำนักงานทะเบียนเขต/ท้องถิ่นตามทะเบียนครอบครัวญี่ปุ่น แต่ทว่า กรณีต้องการยื่นแจ้งที่สำนักงานทะเบียนเขต/ท้องถิ่นตามทะเบียนครอบครัวญี่ปุ่น กรุณาสอบถามรายละเอียดโดยตรงที่สำนักงานทะเบียนเขต/ท้องถิ่นที่ประเทศญี่ปุ่นที่ผู้ยื่นจะนำไปยื่น (ทั้งนี้อาจจำเป็นต้องยื่นเอกสารอื่นเพิ่มเติมนอกเหนือจากที่กล่าวมาข้างต้น ขึ้นอยู่กับแต่ละพื้นที่ของสำนักงานทะเบียนเขต/ท้องถิ่น)
  2. กรณีคู่สมรสทั้งสองมีบุตรที่ยังไม่บรรลุนิติภาวะด้วยกันจำเป็นต้องกำหนดว่าฝ่ายใดจะเป็นผู้แทนโดยชอบธรรม (ผู้มีอำนาจในการปกครองบุตร) (กฎหมายทะเบียนครอบครัวมาตรา 76 และ 78 และ กฎหมายแพ่งมาตรา 819 และ 766) ทั้งนี้ในทะเบียนการหย่าที่ออกโดยที่ว่าการเขต/อำเภอของไทยจำเป็นต้องมีการระบุรายละเอียดเหล่านี้เช่นกัน
  3. เนื่องจากเป็นการยื่นคำร้องเพื่อแจ้งเรื่องการหย่าเท่านั้นจึงไม่จำเป็นต้องมีพยาน
  4. จำเป็นต้องแจ้งเรื่องการหย่าภายใน 3 เดือนนับจากวันที่จดทะเบียนเรื่องการหย่าที่ประเทศไทย (กฎหมายทะเบียนครอบครัวมาตรา 41) ทั้งนี้เป็นการยื่นใบคำร้องเพื่อแจ้งเรื่องการหย่าเท่านั้น ดังนั้นโดยทั่วไปแล้วผู้แจ้งจึงเป็นชื่อชาวญี่ปุ่นเพียงคนเดียว (กฎหมายทะเบียนครอบครัวมาตรา 40) แต่ทว่าในกรณีคู่สมรสทั้งสองมีบุตรที่ยังไม่บรรลุนิติภาวะด้วยกัน ต้องพึงระวังไว้ว่าจำเป็นต้องมีลายมือชื่อของคู่สมรสชาวไทยในช่องผู้แจ้งในใบคำร้องด้วย
 

3. ขั้นตอนการหย่าตามการตัดสินของศาลไทย

กรณีสามีภรรยาชาวไทยกับชาวญี่ปุ่นไม่สามารถตกลงกันได้เกี่ยวกับการหย่าสามารถยื่นฟ้องต่อศาลได้ หลังจากได้รับคำพิพากษาคดีของศาลไทยว่าคดีถึงที่สุดในเรื่องหย่า และตราบเท่าที่คำพิพากษาศาลในเรื่องหย่าเป็นไปตามขั้นตอนและเงื่อนไขของข้อกำหนดตามประมวลกฎหมายการฟ้องคดีแพ่งมาตราที่ 118 ของญี่ปุ่นแล้วนั้น (ดูอ้างอิงในหัวข้อถัดไป) จะมีผลบังคับใช้ครอบคลุมการหย่าที่ญี่ปุ่นด้วย ในกรณีนี้คู่กรณีต้องยื่นแจ้งเรื่องการหย่าไปยังสำนักงานทะเบียนเขต/ท้องถิ่นที่ประเทศญี่ปุ่น หรือยื่น (แจ้ง) เรื่องผ่านสถานทูตญี่ปุ่นหรือสถานกงสุลใหญ่ญี่ปุ่นประจำประเทศไทยภายในระยะเวลา 10 วันหลังจากมีคำพิพากษาศาลว่าคดีถึงที่สุด (กฎหมายทะเบียนครอบครัวมาตรา 77 และ 63 และ กฎหมายแพ่งมาตรา 764 และ 741)

 

เมื่อดำเนินการแจ้งเรื่องการหย่าทั้งสองประเทศเสร็จสิ้นถือว่าขั้นตอนการหย่าของทั้งสองประเทศเป็นอันเสร็จสมบูรณ์

 

【เงื่อนไขข้อกำหนด 4 ประการตามประมวลกฎหมายการฟ้องคดีแพ่งมาตราที่ 118 ของประเทศญี่ปุ่น】

  1. 1.ตามระเบียบข้อบังคับของกฎหมายหรือว่าด้วยสนธิสัญญาแล้วนั้น สามารถยอมรับอำนาจคำพิพากษาของศาลในต่างประเทศได้
  2. จำเลยที่แพ้คดีได้รับการแจ้งหมายศาลในการเปิดคดีความที่มิใช่การแจ้งโดยการประกาศหรือการบอกกล่าวทางสาธารณะ หรือจำเลยมีการตอบสนองต่อคดีความ
  3. 3.การดำเนินคดีความและเนื้อหาคำพิพากษาศาลนั้นไม่ขัดต่อความสงบเรียบร้อยและศีลธรรมของประชาชน
  4. 4.มีการรับรองซึ่งกันและกัน
 

เอกสารจำเป็น

  1. ใบคำร้องแจ้งการหย่า จำนวน 2 ฉบับ
  2. ทะเบียบครอบครัวญี่ปุ่นฉบับเต็มของชาวญี่ปุ่น (ออกจากสำนักงานทะเบียนเขต/ท้องถิ่นแล้วมีอายุการใช้งานภายใน 3 เดือน) จำนวน 2 ฉบับ
  3. คำพิพากษาคดีของศาลไทยฉบับเต็ม (ตัวจริงเท่านั้น)
  4. ฉบับแปลเป็นภาษาญี่ปุ่นของเอกสารในหัวข้อ 3. (จำเป็นต้องระบุชื่อผู้แปล)
  5. หนังสือ (ใบ) สำคัญแสดงว่าคดีถึงที่สุด (ตัวจริงเท่านั้น)
  6. ฉบับแปลเป็นภาษาญี่ปุ่นของเอกสารในหัวข้อ 5.(จำเป็นต้องระบุชื่อผู้แปล)
 

ข้อควรคำนึง

  1. เนื่องจากเป็นการยื่นคำร้องเพื่อแจ้งเรื่องการหย่าเท่านั้นจึงไม่จำเป็นต้องมีพยาน
  2. จำเป็นต้องแจ้งเรื่องการหย่าภายใน 10 วันนับจากวันที่ศาลไทยออกหนังสือ (ใบ) สำคัญแสดงว่าคดีถึงที่สุด (กฎหมายทะเบียนครอบครัวมาตรา 77 และ 63) ทั้งนี้เป็นการยื่นใบคำร้องเพื่อแจ้งเรื่องการหย่าเท่านั้นผู้แจ้งจึงเป็นชื่อชาวญี่ปุ่น ส่วนการลงลายมือชื่อและการแสดงตัวของคู่สมรสชาวไทยนั้นขึ้นอยู่กับความสมัครใจ
 

2. อื่นๆ (กรณีคู่สมรสเสียชีวิต)

กรณีเป็นคู่สมรสระหว่างชาวไทยกับชาวญี่ปุ่น และคู่สมรสชาวไทยเสียชีวิต

กรณีคู่สมรสเสียชีวิตลงความสัมพันธ์ด้านการสมรสก็เป็นอันจบลงไปโดยปริยาย ไม่จำเป็นต้องแจ้งเรื่องการหย่า

 

แต่ทว่า กรณีคู่สมรสของชาวญี่ปุ่นเป็นชาวต่างชาติ เมื่อคู่สมรสชาวต่างชาติ (ชาวไทย) ได้เสียชีวิตลง แม้ความสัมพันธ์ด้านการสมรสเป็นอันจบลงไปแล้วก็ตามก็ไม่ได้เป็นเหตุให้คู่สมรสชาวญี่ปุ่นสามารถกลับไปใช้นามสกุลเดิมก่อนการสมรสได้ ในตอนที่สมรสกันนั้นชาวญี่ปุ่นที่มีความประสงค์อยากเปลี่ยนไปใช้นามสกุลของคู่สมรสชาวไทยจะสามารถเปลี่ยนกลับไปใช้นามสกุลญี่ปุ่นเดิมได้ก็ต่อเมื่อมีการแจ้งเรื่องการขอเปลี่ยนนามสกุลหลังจากวันที่ดำเนินการเรื่องการหย่าแล้วภายใน 3 เดือน (กฎหมายทะเบียนครอบครัวมาตรา 107 วรรค 3)

 

อีกประการหนึ่ง เกี่ยวกับข้อเท็จจริงของการเสียชีวิตของคู่สมรสชาวไทย สามารถลงบันทึกรายละเอียดในทะเบียนครอบครัวของชาวญี่ปุ่นได้ (เช่น ชื่อสกุลของผู้เสียชีวิต วันเวลาและสถานที่ที่เสียชีวิต ผู้แจ้งการเสียชีวิต เป็นต้น) ตามการแจ้งเจตจำนงของคู่สมรสชาวญี่ปุ่น เอกสารจำเป็นในการแจ้งเจตจำนง ได้แก่

 

เอกสารจำเป็น

  1. ใบแจ้งเจตจำนงเกี่ยวกับการลงสาเหตุแห่งการยกเลิกการสมรส (รายละเอียดการเสียชีวิต) (สามารถรับได้ที่สถานทูตญี่ปุ่น)
  2. ทะเบียบครอบครัวญี่ปุ่นฉบับเต็มของชาวญี่ปุ่น (ออกจากสำนักงานทะเบียนเขต/ท้องถิ่นแล้วมีอายุการใช้งานภายใน 3 เดือน) จำนวน 2 ฉบับ
  3. ใบมรณบัตรของคู่สมรสชาวไทย (ตัวจริงเท่านั้น)
  4. ฉบับแปลเป็นภาษาญี่ปุ่นของเอกสารในหัวข้อ 3. (จำเป็นต้องระบุชื่อผู้แปล)

ติดต่อสอบถาม

แผนกหนังสือรับรอง หนังสือเดินทาง ฝ่ายกงสุล สถานเอกอัครราชทูตญี่ปุ่นประจำประเทศไทย

หมายเลขโทรศัพท์ : 0-2207-8501, 0-2696-3001 (ภาษาญี่ปุ่น)

E-mail: koseki@bg.mofa.go.jp

แผนที่สถานเอกอัครราชทูตญี่ปุ่นประจำประเทศไทย

 

สถานกงสุลใหญ่ญี่ปุ่น ณ นครเชียงใหม่ ฝ่ายหนังสือเดินทางและการรับรองเอกสาร

โทรศัพท์: 052-012500 ต่อ 102  (ภาษาญี่ปุ่นและภาษาไทย)

โทรสาร: 052-012515