คำถามข้อที่ 2. เอกสารและแผนที่โบราณของสาธารณรัฐเกาหลีได้บันทึกเรื่องราวของเกาะทะเคะชิมะไว้บ้างหรือไม่?
2017/9/12


คำตอบข้อที่ 2.
ไม่ ถึงแม้ว่าทางสาธารณรัฐเกาหลีจะอ้างว่า เกาะฮูซาน ซึ่งถูกบันทึกในเอกสารและแผนที่โบราณของเกาหลี คือ “เกาะทะเคะชิมะ” ในปัจจุบัน แต่เป็นการอ้างโดยปราศจากเหตุผลและข้อเท็จจริงเอกสารโบราณที่สาธารณรัฐเกาหลีใช้อ้างเป็นหลักฐาน
สาธารณรัฐเกาหลีอ้างว่าตระหนักรับรู้ว่ามี “เกาะอุทซึเรียวและเกาะฮูซาน” ทั้งสองเกาะตั้งแต่ในสมัยโบราณ จากบันทึกในเอกสารโบราณของเกาหลี และเกาะฮูซานคือเกาะทะเคะชิมะในปัจจุบัน แต่ทว่า ไม่พบข้อพิสูจน์ที่ยืนยันว่า “เกาะฮูซาน” ที่ถูกบันทึกในเอกสารโบราณของเกาหลีนั้น คือ เกาะทะเคะชิมะในปัจจุบัน
ตัวอย่าง เช่น “เซจง ซิลลก จิริจิ” (ภาคผนวกส่วนภูมิศาสตร์ในบันทึกข้อเท็จจริงของกษัตริย์เซจง ค.ศ.1454) และ “ชินซึง ดงกุก ยอจี ซึงนัม” (การสำรวจเพิ่มทางด้านภูมิศาสตร์เกาหลีฉบับแก้ไขปรับปรุง ค.ศ.1531) สาธารณรัฐเกาหลีอ้างว่า ได้บันทึกว่า “เกาะฮูซาน” และ “เกาะอุทซึเรียว” อยู่ในทะเลทางด้านตะวันออกของจังหวัดอูลจิน (Uljin) ซึ่งหมายความว่าเกาะฮูซานดังกล่าวคือเกาะทะเคะชิมะ แต่ทว่า “เซจง ซิลลก จิริจิ” (ภาคผนวกส่วนภูมิศาสตร์ในบันทึกข้อเท็จจริงของกษัตริย์เซจง ค.ศ.1454) ได้บันทึกไว้ว่า “ในสมัยซิลลา มีชื่อเรียกว่ารัฐฮูซันกุก และมีอีกชื่อว่า เกาะอุทซึเรียว บนเกาะมีพื้นที่ประมาณ 100 ตารางลี้” ส่วนใน “ชินซึง ดงกุก ยอจี ซึงนัม” (การสำรวจเพิ่มทางด้านภูมิศาสตร์เกาหลีฉบับแก้ไขปรับปรุง ค.ศ.1531) ได้บันทึกไว้ว่า “ในทฤษฎีหนึ่งเกาะฮูซานและเกาะอุทซึเรียวนั้นคือเกาะเดียวกัน และมีขนาด 100 ตารางลี้” แต่ทว่าเอกสารโบราณเหล่านี้ไม่ได้บันทึกรายละเอียดอื่นๆของเกาะฮูซาน มีแต่บันทึกในเรื่องของเกาะอุทซึเรียวเพียงเท่านั้น อีกทั้งยังมีเอกสารของสาธารณรัฐเกาหลีที่แสดงให้เห็นว่าเกาะฮูซานนั้นแท้จริงแล้วไม่ใช่เกาะทะเคะชิมะในปัจจุบัน ยกตัวอย่างเช่น พงศาวดารพระเจ้าแทจงเล่มที่33 ซึ่งมีเนื้อหาครอบคลุมถึงช่วงเดือนกุมภาพันธ์ในการครองราชย์ปีที่17 ของพระองค์ (ค.ศ.1417) โดยบันทึกไว้ว่า “ผู้ตรวจการแผ่นดิน Kim In-U ได้เดินทางกลับจากเกาะฮูซานพร้อมนำเครื่องราชบรรณาการมาด้วย ประกอบไปด้วย ไผ่ต้นใหญ่ […] พร้อมทั้งพาราษฎรผู้มีถิ่นอาศัยบนเกาะกลับมาด้วยอีก 3 คน โดยบนเกาะมีครอบครัวอาศัยอยู่ประมาณ 15 หลังคาเรือน มีชาย-หญิง รวมทั้งสิ้น 86 คน” แต่ว่าที่เกาะทะเคะชิมะนั้นไม่มีต้นไผ่ และไม่มีพื้นที่ซึ่งสามารถรองรับคนจำนวน 86 คนให้อาศัยอยู่ได้
สาธารณรัฐเกาหลีอ้างว่าในเอกสาร เช่น “ดงกุก มุนฮอน บิโก” (การรวบรวมเอกสารอ้างอิงที่เกี่ยวข้องกับเกาหลี: ค.ศ.1770) บันทึกไว้ว่า “เกาะอุทซึเรียวและเกาะฮูซาน เป็นส่วนหนึ่งของรัฐฮูซันกุก และเกาะฮูซานถูกเรียกว่า มัทสึชิมะในภาษาญี่ปุ่น” แต่เอกสารเหล่านี้ซึ่งถูกบันทึกตั้งแต่ช่วงศตวรรษที่18 เป็นต้นมานั้นอ้างอิงจากคำพูดที่ไม่น่าเชื่อถือของนาย อันยง-บก ที่แอบเข้ามาในประเทศญี่ปุ่นอย่างผิดกฎหมายในปีค.ศ.1696 (อ่านรายละเอียดเพิ่มเติมในคำถามและคำตอบข้อที่ 3) นอกจากนี้ ถึงแม้ว่าผู้บันทึกเอกสารในช่วงศตวรรษที่18 และ 19 จะบันทึกว่า “เกาะฮูซาน” ถูกเรียกว่า “เกาะมัตสึชิมะ” ในประเทศญี่ปุ่น แต่ไม่ได้หมายความว่า “เกาะฮูซาน” ที่บันทึกใน “เซจง ซิลลก จิริจิ” (ภาคผนวกส่วนภูมิศาสตร์ในบันทึกข้อเท็จจริงของกษัตริย์เซจง) ในช่วงศตวรรษที่15 และ “ชินซึง ดงกุก ยอจี ซึงนัม” (การสำรวจเพิ่มทางด้านภูมิศาสตร์เกาหลีฉบับแก้ไขปรับปรุง) ในช่วงศตวรรษที่16 จะหมายถึงเกาะทะเคะชิมะในปัจจุบัน
แผนที่โบราณที่ฝั่งสาธารณรัฐเกาหลีใช้เป็นหลักฐานในการอ้างอิงสิทธิ
สาธารณรัฐเกาหลียังยืนกราณว่าแผนที่โบราณของเกาหลีตั้งแต่สมัยศตวรรษที่16 บันทึกถึง “เกาะทะเคะชิมะ” ในชื่อ “เกาะฮูซาน” แต่ทว่า “เกาะฮูซาน” ที่แสดงอยู่บนแผนที่ปัจจุบันของเกาหลีนั้นไม่ใช่ “เกาะทะเคะชิมะ” แต่อย่างใด
*หมายเหตุ: ในทางกฏหมายระหว่างประเทศ แผนที่ซึ่งนอกเหนือจากที่แนบกับสนธิสัญญา ไม่สามารถใช้ในการอ้างสิทธิเหนืออาณาเขตได้ และถึงแม้จะเป็นแผนที่ซึ่งแนบมากับสนธิสัญญาก็ตาม แต่แผนที่นั้นเป็นหลักฐานในการสนับสนุนเท่านั้น เนื่องจากจุดประสงค์ที่แท้จริงนั้นเป็นไปตามรายละเอียดซึ่งระบุอยู่ในสนธิสัญญาซึ่งคู่กรณีตั้งใจลงนามไว้ในสนธิสัญญา
ตัวอย่างเช่น “The Map of Eight Province of Korea” แผนที่ซึ่งแนบอยู่ใน “ชินซึง ดงกุก ยอจี ซึงนัม” (การสำรวจเพิ่มทางด้านภูมิศาสตร์เกาหลีฉบับแก้ไขปรับปรุง ค.ศ.1531) ได้เขียนภาพ “เกาะอุทซึเรียว” และ “เกาะฮูซาน” ไว้ทั้งสองเกาะ ในทางกลับกันหาก “เกาะฮูซาน” คือ “เกาะทะเคะชิมะ” ตามที่สาธารณรัฐเกาหลียืนกราน เกาะแห่งนี้ต้องอยู่ด้านตะวันออกและต้องเขียนให่มีขนาดเล็กกว่า “เกาะอุทซึเรียว” แต่ทว่า “เกาะฮูซาน” บนแผนที่นี้กลับอยู่ในตำแหน่งระหว่าง “คาบสมุทรเกาหลี” และ “เกาะอุทซึเรียว” นอกจากนี้ยังมีขนาดที่ใหญ่จนเกือบจะเท่ากับเกาะอุทซึเรียวอีกด้วย ดังนั้น “เกาะฮูซาน” ในแผนที่ “The Map of Eight Province of Korea” น่าจะหมายถึงว่าเป็น เกาะอุทซึเรียวทั้งสองเกาะ หรือเกาะที่เขียนขึ้นนี้ไม่มีอยู่จริง ไม่ใช่เกาะทะเคะชิมะ เพราะเกาะทะเคะชิมะอยู่ในตำแหน่งด้านตะวันออกของ “เกาะอุทซึเรียว”
แผนที่ของสาธารณรัฐเกาหลีตั้งแต่ศตวรรษที่18 เป็นต้นมา เกาะฮูซานได้ถูกบันทึกลงบนแผนที่ด้านทิศตะวันออกของของ “เกาะอุทซึเรียว” แต่ “เกาะฮูซาน” นั้นไม่ใช่ “เกาะทะเคะชิมะ” ในปัจจุบันแต่อย่างใด
ตัวอย่างเช่น แผนที่ “เกาะอุทซึเรียว” ที่ถูกเขียนขึ้นจากการสำรวจเกาะอุทซึเรียวของ “Bak Seok-Chang” ในปีค.ศ.1711 นั้น เขียนภาพ “เกาะฮูซาน” ในด้านทิศตะวันออกของเกาะอุทซึเรียว และยังเขียนหมายเหตุกำกับไว้ว่า “เกาะฮูซาน อุดมไปด้วยผืนป่าไผ่Haejang” ซึ่งไผ่Haejangนั้นคือไผ่Simon Bamboo แต่ทว่าเกาะทะเคะชิมะนั้นมีลักษณะเป็นหินจึงไม่สามารถปลูกพืชพันธุ์เช่นนั้นได้ “เกาะฮูซาน” นี้จึงไม่ใช่เกาะทะเคะชิมะในปัจจุบัน อนึ่ง เกาะ “Jukdo” (หมายเหตุ) ซึ่งอยู่ห่างจากเกาะอุทซึเรียวไปทางทิศตะวันออกประมาณ 2 กิโลเมตร มีไผ่Simon Bambooขึ้นอยู่เป็นจำนวนมาก จึงอาจสันนิษฐานได้ว่า “เกาะฮูซาน” บนแผนที่ “เกาะอุทซึเรียว” นั้นคือ “เกาะJukdo”
* หมายเหตุ เกาะJukdo เป็นเกาะเล็กๆห่างจาก “เกาะอุทซึเรียว” ไปทางทิศตะวันออกประมาณ 2 กิโลเมตร
นักเขียนแผนที่ซึ่งมีชื่อเสียงชาวเกาหลี นายKim Jeong-ho ได้เขียนแผนที่ชื่อ “Cheonggudo” (ค.ศ.1834) ซึ่งมีแผนที่เกาะอุทซึเรียว ทางด้านทิศตะวันออกของเกาะอุทซึเรียวได้เขียนเกาะที่มีลักษณะยาว แคบ และเขียนชื่อกำกับว่า “เกาะฮูซาน”
แผนที่ฉบับนี้มีหน่วยแสดงระยะทางกำกับ (หนึ่งหน่วยระยะทางเท่ากับ 10 ลี้เกาหลี หรือประมาณ 4 กิโลเมตร) เพื่อแสดงถึงระยะทางอย่างชัดเจน ภาพที่ถูกเขียนขึ้นในแผนที่แสดงระยะทางระหว่างเกาะอุทซึเรียวกับเกาะฮูซานประมาณ 2 หรือ 3 กิโลเมตร อีกทั้งลักษณะของเกาะ แสดงให้เห็นอย่างชัดเจนว่าเกาะฮูซานที่ว่า คือ เกาะ “Jukdo” ซึ่งอยู่ทางตะวันออกของเกาะอุทซึเรียวประมาณ 2 กิโลเมตร (เกาะทะเคะชิมะอยู่ห่างออกไปจากเกาะอุทซึเรียว 90 กิโลเมตร)
จึงสรุปได้ว่า “เกาะฮูซาน” ที่ถูกบันทึกในแผนที่ของสาธารณรัฐเกาหลีในช่วงตั้งแต่ศตวรรษที่ 18 แท้จริงแล้วคือ “เกาะJukdo”
แผนที่ซึ่งแสดงให้เห็นว่า “เกาะJukdo” ซึ่งอยู่ห่างจากเกาะอุทซึเรียวด้านทิศตะวันออกประมาณ 2 กิโลเมตร คือเกาะ “ฮูซาน” ก็ยังถูกเขียนขึ้นในยุคสมัยใหม่ “แผนที่ Daehanjeongdo” แผนที่ซึ่งจัดพิมพ์โดย Academic Editorial Bureauแห่งจักรวรรดิเกาหลีในปีค.ศ.1899 เป็นแผนที่ในรูปแบบสมัยใหม่ซึ่งมีเส้นละติจูดและลองติจูดกำกับ และมีการเขียนภาพถึง “เกาะฮูซาน” อยู่ในตำแหน่งใกล้ๆเกาะอุทซึเรียว “เกาะฮูซาน”นี้คือ “เกาะJukdo” และไม่ใช่ เกาะทะเคะชิมะในปัจจุบันแต่อย่างใด

