คำถามข้อที่ 6. หลังจากสิ้นสุดสงครามโลกครั้งที่2 ศูนย์บัญชาการสูงสุดของฝ่ายสัมพันธมิตร (SCAP) ได้แยกเกาะทะเคะชิมะออกจากดินแดนของประเทศญี่ปุ่นหรือไม่?

2017/9/12
SCAPIN ฉบับที่677
SCAPIN ฉบับที่1033
 

คำตอบข้อที่ 6.


        ไม่ เป็นความเข้าใจที่ผิด ศูนย์บัญชาการสูงสุดของฝ่ายสัมพันธมิตร (SCAP) ไม่มีอำนาจในการจัดการดินแดน
       
        สาธารณรัฐเกาหลี ยืนยันว่าใน บันทึกการบัญชาการสูงสุดเพื่อคำสั่งสัมพันธมิตร (SCAPIN) ฉบับที่ 677 (ดูเอกสารเพิ่มเติม1) และฉบับที่1033 (ดูเอกสารเพิ่มเติม2) ระบุให้เกาะทะเคะชิมะอยู่นอกอาณาเขตดินแดนของประเทศญี่ปุ่น ทำให้ประเทศญี่ปุ่นไม่สามารถใช้อำนาจอธิปไตยเหนือเกาะทะเคะชิมะ แต่ทว่า ทั้งสองฉบับนั้นระบุอย่างชัดเจนว่านี่ไม่ใช่นโยบายอันเป็นที่สุดของสัมพันธมิตรในการกำหนดอาณาเขต ซึ่งสาธารณรัฐเกาหลีไม่ได้กล่าวถึงในส่วนนี้ จึงทำให้สาธารณรัฐเกาหลีไม่สามารถโต้แย้งในกรณีนี้ได้

        หลังจากสิ้นสุดสงคราม สนธิสัญญาสันติภาพซานฟรานซิสโก (ซึ่งมีผลบังคับใช้ในปี ค.ศ.1952) เป็นสนธิสัญญาซึ่งระบุอาณาเขตของประเทศญี่ปุ่นไว้อย่างถูกต้องตามกฎหมาย จึงเป็นที่แน่ชัดว่าทั้งในแง่ข้อเท็จจริงและในแง่ของกฎหมายระหว่างประเทศ การจัดการในกรณีของเกาะทะเคะชิมะโดยศูนย์บัญชาการสูงสุดของฝ่ายสัมพันธมิตร(SCAP) ที่เกิดขึ้นก่อนสนธิสัญญาสันติภาพฉบับนี้จะมีผลบังคับใช้ถือเป็นโมฆะ และไม่มีผลต่ออำนาจอธิปไตยเหนือเกาะทะเคะชิมะ
 

เอกสารเพิ่มเติม1 : SCAPIN ฉบับที่677


        ในเดือนมกราคม ค.ศ.1946 ศูนย์บัญชาการสูงสุดของฝ่ายสัมพันธมิตร ได้กำหนดแนวทางให้รัฐบาลญี่ปุ่นหยุดความพยายามในการเข้าแทรกแซงทางการเมืองหรือใช้อำนาจปกครองในบางพื้นที่เป็นการชั่วคราว ตามที่ระบุไว้ใน บันทึกการบัญชาการสูงสุดเพื่อคำสั่งสัมพันธมิตร ฉบับที่ 677 ย่อหน้าที่ 3 ซึ่งได้ระบุไว้ว่า “เพื่อให้บรรลุจุดประสงค์ของคำสั่งดังกล่าว ได้กำหนดให้ประเทศญี่ปุ่น หมายถึงเกาะทั้ง 4 (ฮอกไกโด, ฮอนชู, กิวชิว และชิโกกุ) และเกาะเล็กๆในบริเวณใกล้เคียงโดยประมาณ 1,000 เกาะ รวมไปถึง เกาะทซึชิมะ และเกาะริวกิว (นันเซ) ซึ่งตั้งอยู่ทิศเหนือของละติจูด 30 องศาเหนือ (ไม่รวมไปถึงเกาะคุจิโนะชิมะ)” บันทึกศูนย์บัญชาการสูงสุดดังกล่าวยังกำหนดรายชื่อเกาะที่ประเทศญี่ปุ่นไม่อาจใช้อำนาจแทรกแซงทางการเมืองหรือออำนาจในการปกครองได้ อันได้แก่ เกาะทะเคะชิมะ รวมไปถึง เกาะอุทซึเรียว, เกาะเชจู, เกาะอิซุ , เกาะโอกะซะวะระ

        แต่ทว่า ในย่อหน้าที่ 6 ของบันทึกศูนย์บัญชาการสูงสุดฉบับนี้ ได้ระบุอย่างชัดเจนว่า “ไม่มีสิ่งใดที่บ่งบอกให้สามารถตีความได้ว่าคำสั่งนี้เกี่ยวข้องกับนโยบายฝ่ายสัมพันธมิตรเกี่ยวกับการกำหนดอันถือเป็นที่สุดในเรื่องอำนาจอธิปไตยบนเกาะเล็กต่างๆ ตามที่กำหนดในมาตรา 8 ของ คำประกาศ ณ เมืองปอตสดัม  (คำประกาศ ณ เมืองปอตสดัม , ข้อ 8 : “อำนาจอธิปไตยของประเทศญี่ปุ่นจะถูกจำกัดอยู่ภายในเกาะฮอนชู, ฮอกไกโด, คิวชู, ชิโกกุ และเกาะเล็กอื่นๆตามที่กำหนด”) ซึ่งการกล่าวอ้างของสาธารณรัฐเกาหลีเพิกเฉยต่อจุดนี้โดยสิ้นเชิง
 

เอกสารเพิ่มเติม2 : SCAPIN ฉบับที่1033


        ในปี ค.ศ. 1946  ศูนย์บัญชาการสูงสุดของฝ่ายสัมพันธมิตร (SCAP) ได้ออก บันทึกการบัญชาการสูงสุดเพื่อคำสั่งสัมพันธมิตร (SCAPIN) ฉบับที่ 1033 เพื่อขยายอาณาเขตบริเวณที่ประเทศญี่ปุ่นได้รับอนุญาตให้ทำการประมงและล่าวาฬได้ (the “Macarthur Line”) ในย่อหน้าที่ 3 ของบันทึกฉบับนี้ ได้ระบุว่า “เรือสัญชาติญี่ปุ่น หรือ ลูกเรือของเรือเหล่านั้น จะต้องไม่เข้าใกล้เกาะทะเคะชิมะมากกว่า ระยะ 12 ไมล์ (ละติจูดที่ 37 องศา 15 ลิปาเหนือ, ลองจิจูด 131 องศา 53 ลิปดาตะวันออก) หรือทำการติดต่อใดๆกับเกาะดังกล่าว”

        อย่างไรก็ดี ในย่อหน้าที่ 5 ของบันทึกเดียวกันนี้ ระบุว่า การอนุญาตนี้มิได้เป็นการแสดงถึงเจตจำนงของนโยบายฝ่ายสัมพันธมิตร เกี่ยวกับเรื่องของการตัดสินอันถือเป็นที่สุดในเรื่องเขตอำนาจปกครองของชาติ, อาณาเขตระหว่างประเทศ, สิทธิในการทำการประมงในบริเวณดังกล่าว หรือบริเวณอื่นๆ”
เส้นแบ่งเขต “The MacArthur Line” ได้ถูกยกเลิกในวันที่ 25 เมษายน ค.ศ. 1952 และหลังจากนั้น 3 วัน เมื่อสนธิสัญญาซานฟรานซิสโกมีผลบังคับ ในวันที่ 28 เมษายน ส่งผลให้เป็นการลบล้างคำสั่งให้ประเทศญี่ปุ่นหยุดใช้อำนาจทางการเมืองและการบริหารในบริเวณดังกล่าว